xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น” เดินหน้าแผนล้างขาดทุนสะสม-ลดพาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด “บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น” อนุมัติลดราคาพาร์จาก 0.25 บาท/หุ้น เหลือ 0.10 บาท/หุ้น เพื่อลดส่วนต่ำมูลค่าหุ้น และล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 150 ลบ. พร้อมมีมติให้โอนย้ายกิจการ “บิ๊ก คาเมร่า” เข้าใต้ร่มเงา “บิ๊ก คอร์ปฯ” ด้านผู้บริหาร “ธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์” มั่นใจผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์เต็มๆ บิ๊ก คอร์ป จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคต ขณะที่การปรับโครงสร้างธุรกิจส่งผลให้การบริหารงานมีความคล่องตัว แถมกำไรที่เกิดขึ้นจาก “บิ๊ก คอร์ป” ยังได้ใช้สิทธิภาษีจากขาดทุนสะสมได้อย่างเต็มที่ในปีหน้ากว่า 190 ล้านบาท เตรียมนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติมติในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ มั่นใจส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว

นายธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BIG เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จากเดิม 0.25 บาท/หุ้น ลดลงเหลือ 0.10 บาท/หุ้น เพื่อเป็นการลดส่วนต่ำมูลค่าหุ้น และล้างขาดทุนสะสมของบริษัทที่ยังคงขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีศักยภาพ และความพร้อมในการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้โอนกิจการของ “บิ๊ก คาเมร่า” บริษัทลูกซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายกล้องถ่ายภาพเข้าไปรวมกับธุรกิจของ “บิ๊ก คอร์ป” ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ทำให้การดำเนินธุรกิจของ BIG มีความคล่องตัวมากขึ้น และที่สำคัญกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบิ๊ก คอร์ป จะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี เนื่องจาก บิ๊ก คอร์ปมีขาดทุนทางภาษีที่ใช้ได้ในปีหน้าอีกกว่า 190 ล้านบาท

“ผมมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจของบิ๊ก คาเมร่า และการปรับลดราคาพาร์เหลือ 0.10 บาท/หุ้น จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เนื่องจากทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว และเอื้อต่อการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในบิ๊ก คอร์ป อีกด้วย และมั่นใจว่าจะส่งผลดีกับการดำเนินธุรกิจในอนาคต” นายธนสิทธิ์ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 นี้ เพื่อขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในลำดับต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น