เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เคาะราคา IPO หุ้นละ 11 บาท หลังสำรวจความต้องการซื้อนักลงทุนสถาบัน เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อ 21-23 ก.ย. ก่อนเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ 29 ก.ย.นี้ พร้อมลงนามแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับดี ด้านผู้บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ วางเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจลอจิสติกส์ในอาเซียน เดินหน้าลงทุนขยาย และก่อสร้างคลังสินค้าในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของบริษัทฯ รวมทั้งแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัดและบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากได้สำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 10.6-11.0 บาทต่อหุ้น พบว่า มีนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 11.0 บาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินงานของ JWD จึงกำหนดราคาขายหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 11.0 บาท ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 21-23 กันยายนนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2558
สำหรับ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้วทั้งหมด จำนวน 480 ล้านหุ้น ซึ่ง JWD จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ก่อสร้าง และขยายคลังสินค้าในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทฯ
ทั้งนี้ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์ภาคพื้นดินอย่างครบวงจร (Fully Integrated In Land Logistics Service Provider) มีบริการแบ่งเป็น 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าบนพื้นที่ทั่วไปและเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งครอบคลุมการให้บริการสินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย ยานยนต์ และสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง 2.ธุรกิจรับขนส่งสินค้าในประเทศ และขนส่งสินค้าข้ามแดน เช่น ลาว พม่า ฯลฯ 3.ธุรกิจรับขนย้ายในประเทศ และต่างประเทศเจาะกลุ่มองค์กรและบุคคล โดยมีบริการขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ในที่พักอาศัย อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์เครื่องจักรและสิ่งของสำหรับงานแสดงสินค้าและศิลปะ 4.ธุรกิจรับฝาก จัดการเอกสารและข้อมูลแบบครบวงจรและ 5.ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ให้เช่าอาคารและคลังสินค้า รวมถึงให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีพื้นที่ให้บริการรับฝากสินค้ารวมทั้งสิ้น 779,743 ตารางเมตร
“JWD มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ถือเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านลอจิสติกส์ภาคพื้นดินในประเทศไทย และกำลังขยายธุรกิจออกไปในภูมิภาคอาเซียน รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น หลังประเทศสมาชิกในอาเซียนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 จึงเชื่อมั่นว่าด้วยยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มุ่งขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และให้การตอบรับที่ดีกับการจองซื้อหุ้น IPO ของ JWD ในครั้งนี้” นายแมนพงศ์ กล่าว
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญการให้บริการลูกค้าที่มีลักษณะธุรกิจซับซ้อนกว่าปกติ เช่น การรับฝากเคมีภัณฑ์และสินค้าอันตราย ยานยนต์และส่วนประกอบน สินค้าแช่เย็นและแช่แข็งที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิที่แม่นยำ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ได้รับสัมปทานการให้บริการรับฝากและบริหารสินค้าอันตรายในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นระยะเวลา 30 ปี (ต.ค.2546-ต.ค.2576) ทำให้สินค้าอันตรายที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องผ่านคลังสินค้าอันตรายของบริษัทฯ เท่านั้น
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจลอจิสติกส์ในอาเซียน โดยปีนี้จะใช้งบฯ ลงทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท ขยายพื้นที่รับฝากสินค้า และจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังสินค้าทั่วไป และคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็งในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเพม่า ลาว และกัมพูชา มีพื้นที่รวม 6,490 ตารางเมตร รองรับธุรกิจค้าปลีกด้านอาหารที่กำลังขยายตัวในภูมิภาคนี้ คาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/59
ส่วนการลงทุนในประเทศไทยได้ปรับปรุงพื้นที่คลังสินค้าภายในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นศูนย์เก็บและกระจายสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดพื้นที่ 9,000 ตารางเมตร คาดว่าจะให้บริการได้ในไตรมาส 1/59 และศูนย์กระจายสินค้าอันตรายในประเทศ 1 อาคาร มีพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร จะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 1/59 นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนซื้อเครนขาสูง 4 คัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการจัดเรียงตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอันตรายสูงขึ้นเป็น 4-5 ชั้น ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น