xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการ ธปท. แนะทำความเข้าใจ และปรับตัวรับ New Normal ที่ส่งผลต่อ ศก.ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท. แนะทำความเข้าใจ และปรับตัวรับ New Normal ที่ส่งผลต่อ ศก.ไทย ชี้นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลง ศก.ไทย กับ New Normal โดยมี 3 ประเด็นที่ควรจะเน้น และตระหนักถึง เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่บริบทใหม่

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปาฐกถาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 โดยระบุว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริบทของเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในหลายมิติ และเป็น New Normal หรือบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว เช่น New Normal ด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีนัยต่อบทบาทของภาคการส่งออกไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, New Normal ของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทั้งในไทย และต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมาก ซึ่งมีผลต่อภาคธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ, New Normal จากระบบการเงินโลกที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้น

ทั้งนี้ New Normal ดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดเงิน และตลาดทุนในแต่ละประเทศถูกกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกบ่อยครั้ง และ New Normal เกี่ยวกับโครงสร้างประชากรที่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาคการผลิตรวมถึงงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และความยั่งยืนทางการคลัง

นายประสาร กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีขอบเขตที่กว้างกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และรวมถึงความท้าทายในมิติต่างๆ ที่กระทบต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นถึงโอกาส และความท้าทายที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องเริ่มทำความเข้าใจและปรับตัวให้พร้อมกับบรรทัดฐานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในการก้าวเข้าสู่บริบทใหม่นี้ มี 3 ประเด็นที่ควรจะเน้น และตระหนักถึง

โดยประเด็นแรก New Normal เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และนโยบายเชิงรุกมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปด้วยดี และมองว่า New Normal คือ การเปลี่ยนแปลงที่มีผลยั่งยืนยาวนาน โดยมาจากการปรับตัวของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเชิงลึกในระบบเศรษฐกิจที่บ่อยครั้งถูกมองข้ามไป แต่จริงๆ แล้วเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังของผลลัพธ์ต่างๆ ในวงกว้าง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจผ่านปัจจัยการผลิตจะพบว่า กำลังแรงงานหลายประเทศหดตัว การสะสมทุนน้อยลง เทคโนโลยีพัฒนาในอัตราช้าลงส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศลดลง นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศกลับมีการปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน เป็นการเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาคือ โครงสร้างการค้าโลก และระดับการรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศ

สำหรับนโยบายการเงิน ระดับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศเป็นพัฒนาการที่สำคัญ โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาขณะนี้คือ แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่กำลังก้าวสู่ New Normal แต่จริงๆ แล้วคือ Back to Normal ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าชดเชยความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเกินควรจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาเป็นเวลานาน

“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะปานกลางที่จะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง และมาตรการเชิงรุกอันจะสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว”

ประเด็นที่สอง นโยบายเชิงรุกที่เหมาะสมจะต้องมุ่งเน้นที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างการรับมือต่อการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และอีกส่วนหนึ่งสะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศที่อยู่ภายใต้การควบคุมด้วย ซึ่งการปฏิรูปเชิงรุกที่มุ่งเน้นปัจจัยที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น โครงสร้างการส่งออก และโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคสามารถมีส่วนช่วยให้การส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำค้ญในระยะต่อไปได้

“บทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นปัจจัยที่จะส่งผลสำคัญต่อการส่งออก และจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจหากสามารถบริหารจัดการได้ดี”

ประเด็นที่สาม ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสะท้อนบทบาทของภาครัฐในการวางกรอบ กฎ กติกาที่เป็นทั้งขอบเขต และแรงจูงใจของภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยในประเทศไทย ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา เริ่มจากการทำงานของรัฐวิสาหกิจที่มีการถือครองสินทรัพย์สำคัญของประเทศ ทั้งไฟฟ้า ระบบขนส่ง คลื่นความถี่

ดังนั้น หากรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจโดยรวมถูกบั่นทอน ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐวิสาหกิจมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งถูกแทรกแซงทางการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้าง การขาดทุน คุณภาพสินค้า หรือบริการที่ยังด้อย ดังนั้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งเร่งด่วน และจำเป็น ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเชิงลึกของระบบเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น