หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด ตาก สระแก้ว มุกดาหาร และหนองคาย ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 มีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปและที่ดินสาธารณะเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อมาเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน โดยจะพัฒนาให้มีโรงงานแปรรูป การเคลื่อนย้ายสินค้า และคนได้อย่างเสรีเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) และการลงทุนทำธุรกิจต่างๆ โดยจะเริ่มเปิดโครงการในช่วงปี พ.ศ.2561 ซึ่งส่งผลให้ที่ดินบริเวณชายแดนทั้ง 5 จังหวัด มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอุตสาหกรรม และถือว่าเป็นผลพลอยได้ของอาชีพสถาปนิกในการออกแบบสิ่งก่อสร้างตามไปด้วย
นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก ให้ทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรฐกิจใหม่ว่า หากเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัดขึ้น จะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้น จึงถือว่าโครงการนี้มีส่วนในการพัฒนาเขตพื้นที่ชายแดนในหลายๆ ด้าน เช่น การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรม และการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ การเกิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปลูกสร้างอาคารที่พัก และการค้าขายสินค้า ตลอดจนแรงงานต่างด้าวก็จะเดินทางเข้ามาหางานในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญจะส่งผลถึง “อาชีพสถาปนิก” ค่อนข้างสูง และเป็นไปในทิศทางที่ดี กล่าวคือ หากที่ดินมีราคาสูงขึ้นเท่ากับว่าพื้นที่บริเวณนั้นๆ มีโอกาสเกิดการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย สถานที่จำหน่ายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่อาชีพสถาปนิกเป็นอย่างมาก และเมื่อเกิดการปลูกสร้างวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจะเริ่มเข้ามามีบทบาททันที เริ่มตั้งแต่เรื่องการวางผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 จังหวัด การออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารต่างๆ ตลอดจนการออกแบบภูมิทัศน์ให้เหมาะสม และสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบ ซึ่งโครงการดังกล่าวก็สร้างความตื่นตัวให้แก่อาชีพสถาปนิกอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม “สภาสถาปนิก” มองว่า หากเรามีการจัดการผังเมืองที่ดี และเป็นระบบจะเป็นสิ่งที่ส่งผลไปสู่การรองรับการเติบโตของเมืองได้ในอนาคต ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนและจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เติบโตตามไปด้วย ตลอดจนการสร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่คนไทย และประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตข้างหน้าอย่างมหาศาล ซึ่งสอดรับต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ดีตามไปด้วย
ล่าสุด สภาสถาปนิก ได้จัดกิจกรรมสภาสถาปนิกสัญจร ครั้งที่ 2/58 โดยนายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก และนายทวีศักดิ์ ยงวิณิชชา ประธานคณะอนุกรรมการภูมิภาค พร้อมด้วยกรรมการสภาสถาปนิกเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ จัดกิจกรรมสภาสถาปนิกสัญจรภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 26 ก.ย.58
โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีการจัดอบรมบรรยายสำคัญๆ หลากหลายหัวข้อ เช่น การเตรียมตัวของสถาปนิกไทยเพื่อเข้าสู่อาเซียน (AEC) กฎหมายควบคุมอาคาร 39 ทวิ เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่สถาปนิกระดับภูมิภาคได้เตรียมตัว และพัฒนาตนก้าวสู่การเป็นสถาปนิกอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับต่อสู้กับอีก 9 ประเทศในอาเซียน (AEC) ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตน และกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแก่นักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในภาคใต้ ซึ่งกิจกรรมสภาสถาปนิกสัญจร ครั้งที่ 2/58 สภาสถาปนิกให้หน่วยพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (พวต.) จำนวน 4 หน่วยแก่สถาปนิกที่เข้าร่วมรับฟังการอบรม
ทั้งนี้ สภาสถาปนิกยังเปิดให้บริการต่ออายุสมาชิก และใบอนุญาตฯ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคล การเลื่อนระดับใบอนุญาตฯ การขอรับใบอนุญาตฯ ที่เป็นนิติบุคคล การต่ออายุใบอนุญาตฯ ที่เป็นนิติบุคคล งานบริการบุคคลทั่วไป การให้บริการข้อมูลในการจัดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (พวต.) การบริการข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียนด้วย