xs
xsm
sm
md
lg

เก็งเฟดขึ้น ดบ.-แบงก์เชื่อไทยรับมือได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายแบงก์เชื่อไทยรับมือผลกระทบได้หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ระบุฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเฟดหยั่งเชิงขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังตัวเลขเศรษฐกิจหลักๆ ออกมาดีต่อเนื่อง แต่ยังห่วงเรื่องความผันผวนของเงินทุน และเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว จับตาประเทศในภูมิภาคที่เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจอ่อนแออาจได้รับผลกระทบแรง

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น คงจะเกิดขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน แต่จะเป็นการปรับขึ้นในการประชุมวันที่ 16-17 กันยายนนี้ หรือไม่ คงไม่เป็นประเด็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับอัตราการขึ้น และความถี่ในการขึ้นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะสามารถรับมือกับการปรับเปลี่ยนดังกล่าวได้ และโดยปัจจัยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูง แม้เงินบาทจะอ่อนค่า แต่ก็ถือว่ามีเสถียรภาพ แตกต่างจากประเทศที่มีปัญหาเงินทุนไหลออก และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่ามากจนทำให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินทุน

กสิกรฯคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 16-17 กันยายน 2558 นั้นเฟดมีโอกาสที่จะ “เริ่ม” การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี โดยเหตุผลสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยตำแหน่งการจ้างงานเต็มเวลา (Full-Time) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ ขณะที่อัตราการว่างงานก็ปรับลดลงสู่ระดับ 5.1% อันเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรายชั่วโมงขยายตัว 2.2% อันเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ย้ำภาพที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ระดับการจ้างงานที่เต็มศักยภาพมากขึ้น อันหมายความถึงโอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยปรับขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี คะแนนเสียงคงแตก โดยคณะกรรมการเฟดบางท่าน คงจะสนับสนุนให้เลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินทั่วโลก และแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังมีไม่มากนัก

ด้วยเหตุผลที่ก้ำกึ่งข้างต้น คาดว่า หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริง ก็คงจะเป็นระดับที่ไม่มากนัก หรือไม่เกิน 0.25% ซึ่งเป็นขนาดการปรับขึ้น ที่ไม่น่าจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด นอกจากนี้ อีกจุดจับตาจะอยู่ที่การส่งสัญญาณของเฟดต่อมุมมองของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลกที่ชัดเจนขึ้น อาทิ จีน

สำหรับประเทศไทยนั้น น่าจะสามารถบริหารผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปข้างต้น ที่คงส่งผลกระทบผ่านความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายนี้ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรวัดด้านเสถียรภาพต่างๆ ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แต่จุดจับตาคงอยู่ที่ผลกระทบทางอ้อม ผ่านการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งมีมาตรวัดด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าไทย อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด คงกระทบต่อฐานะทุนสำรองฯ และค่าเงินของประเทศดังกล่าวชัดเจนขึ้น อันอาจนำมาสู่การดำเนินการเชิงนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังค่าเงินบาท สภาพคล่อง และทิศทางอัตราผลตอบแทนในประเทศของไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น