ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะจับตาค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินมาเลย์-อินโดฯ หากเฟดเริ่มขึ้น ดบ. เชื่อไทยสามารถรับมือได้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยน่าจะสามารถบริหารผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ที่คงส่งผลกระทบผ่านความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายนี้ได้
ทั้งนี้ เนื่องจากมาตราวัดด้านเสถียรภาพต่างๆ ของไทยยังมีความเข้มแข็ง เช่น ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึงประมาณ 3 เท่า อีกทั้งยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึงประมาณ 5% ต่อจีดีพี
นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยก็มีการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการปรับขึ้นของมูลค่าหนี้ที่กู้ยืมในสกุลต่างประเทศ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นจากอดีต
แต่กระนั้นก็ดี จุดจับตาคงอยู่ที่ผลกระทบทางอ้อมผ่านการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งมีมาตรวัดด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าไทย เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงกระทบต่อฐานะทุนสำรองฯ และค่าเงินของประเทศดังกล่าวชัดเจนขึ้น อันอาจนำมาสู่การดำเนินการเชิงนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังค่าเงินบาท สภาพคล่อง และทิศทางอัตราผลตอบแทนในประเทศของไทยได้
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ คาดว่า เฟดมีโอกาสที่จะเริ่มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี
สำหรับเหตุผลสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยตำแหน่งการจ้างงานเต็มเวลา (Full-Time) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่
ขณะที่อัตราการว่างงานก็ปรับลดลงสู่ระดับ 5.1% อันเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรายชั่วโมงขยายตัว 2.2% อันเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ย้ำภาพที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ระดับการจ้างงานที่เต็มศักยภาพมากขึ้น อันหมายความถึงโอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยปรับขึ้นในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี คะแนนเสียงคงแตก โดยคณะกรรมการเฟดบางท่านคงจะสนับสนุนให้เลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นต่อตลาดการเงินทั่วโลก และแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังมีไม่มากนัก
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอดีตนั้น มักจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนไม่มาก เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะไม่สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลก ซึ่งความผันผวนของตลาดการเงินโลกดังกล่าวจะยิ่งทำให้เฟดควบคุมประสิทธิผลเชิงนโยบายได้ลดลง
ขณะเดียวกัน ความกังวลในลักษณะดังกล่าวสะท้อนผ่านแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดบางท่านในช่วงก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. มีน้อยลง
เอกสารเผยแพร่ ระบุว่า ด้วยเหตุผลที่ก้ำกึ่งข้างต้น คาดว่า หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงก็คงจะเป็นระดับที่ไม่มากนัก หรือไม่เกิน 0.25% ซึ่งเป็นขนาดการปรับขึ้นที่ไม่น่าจะสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด
นอกจากนี้ อีกจุดจับตาจะอยู่ที่การส่งสัญญาณของเฟดต่อมุมมองของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตว่า เฟดจะใช้ถ้อยคำที่ปรับลดระดับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป้าหมายในระยะข้างหน้าอย่างไร ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลกที่ชัดเจนขึ้น