YLG แนะเกาะติดสถานการณ์เฟด และทิศทางค่าบาท จะเป็น 2 ปัจจัยหลักที่กำหนดแนวโน้มราคาทองคำ พร้อมประเมินทิศทางขึ้น ดบ.ของสหรัฐฯ ความเห็นแตกเป็น 2 ทาง
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ โดยวายแอลจีมอง 2 ประเด็น คือ ฝั่งที่สนับสนุนให้เฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหตุผลว่า จะทำให้เสถียรภาพทางการเงินต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น
โดยที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่เริ่มอยู่ในระดับต่ำ บ่งบอกการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่หากยังปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละศูนย์จะทำให้สินเชื่อเติบโตเร็วจนเกินไป จนทำให้อาจเกิดฟองสบู่เศรษฐกิจแตก และต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า
ขณะที่ทางฝั่งที่ต้องการให้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีเหตุผลว่า หากเฟดรีบขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดสะดุดขึ้นมาอีก จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า จนสุดท้ายเฟดก็ต้องกลับมาทำ QE อีกรอบจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนเกิดการชะลอตัว ซึ่งจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก รวมถึงประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยอีกมากมาย ซึ่งประเด็นนี้เฟดได้เตรียมแผนรับมือไว้หรือยัง
ทั้งนี้ วายแอลจีมองว่า หากที่ประชุมดังกล่าวมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลงหลุดระดับ 1,070-1,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละศูนย์เหมือนเดิมจะส่งให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในทันที คาดว่าราคาทองคำในตลาดโลกมีโอกาสไปทดสอบระดับ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขในตลาดแรงงาน และตัวเลขดัชนีต่างๆ อย่างใกล้ชิด ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้นยังต้องติดตามค่าเงินบาทที่ยังคงแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนอาจต้องเก็งกำไรในกรอบไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และหากราคาปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้าน 1,180-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 20,100-20,500 บาทต่อบาททองคำ ต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ขณะที่หากราคาทองคำอ่อนตัวลงมาในบริเวณ 1,100-1,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,800-18,400 บาทต่อบาททองคำอาจเข้าซื้อ และอาจต้องชะลอออกไปหากราคาหลุด 1,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,000 บาทต่อบาททองคำ