xs
xsm
sm
md
lg

พันธกิจ “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประสบการณ์ สร้างงาน สร้างองค์กร


รพี เริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่ง “นิติกร ฝ่ายกฎหมาย” ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้รับพิจารณาให้ไปทำงานเป็นคนแรกของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรพัย์ หรือ ก.ล.ต.จนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ระว่า พ.ศ.2543-2547 การกลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของ “รพี สุจริตกุล” ในครั้งนี้ ความคาดหวังในการทำงานคือ พยายามวางแนวทางการทำงาน การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สามารถนำไปปฏิบัติ บังคับใช้ได้อย่างจริงจัง ทันต่อเหตุการณ์ และสามารถป้องกันความเสียหายอันจะเกิดในตลาดทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องเร่งด่วนที่ “รพี” ดำเนินการทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง เลขาธิกา รก.ล.ต. คือ หารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. แก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงผิดปกติ รวมถึงโครงสร้างที่เอื้อต่อการกระทำความผิดในการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งการใช้ข้อมูลภายในของผู้บริหาร (อินไซด์) และการปั่นหุ้น “ผมมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้นำกฎหมายทั้งหมดที่ ก.ล.ต.กำหนดขึ้นไปใช้ไปปฎิบัติ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นหน่วยงานที่รู้ดีที่สุดว่ากฎหมายใดใช้ได้ ใช้ไม่ได้ กฎหมายใดกำหนดขึ้นมาแล้วยังไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น การจะแก้ไข-ปรับปรุง ก.ล.ต.ต้องฟังตลาดหลักทรัพย์ให้มาก แนวทางที่วางไว้คือ จะพยายามทำงานร่วมกันให้มากที่สุด เพื่อให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถนำกฎหมายที่ ก.ล.ต.เป็นผู้จัดทำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

แนวทางการดำเนินงานที่ “รพี” วางไว้คือ 1.สร้างความเข้าใจให้เกิดต่อบุคลากรภายในองค์กร ก.ล.ต. เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม “เราต้องสร้งการรับรู้ให้บุคลากรเราก่อน เมื่อเขาเข้าใจว่าเขาต้องทำอะไร การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจึงจะเกิดขึ้น การที่ผมได้ออกไปทำงานในภาคเอกชนทำให้ผมเห็นจุดที่ต้องปรับจูนให้ตรงกัน คือ ภาคเอกชนไม่มีเวลาที่จะมาศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ข้อบังคับอย่างที่เราต้องการ ดังนั้น เมื่อเขามาตอบแบบสอบถาม เขาไม่เข้าใจเพราะเขาไม่มีเวลาศึกษามา ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะทำประชาพิจารณ์กี่ครั้งก็ไม่ได้ผล ผมเข้ามาก็ต้องปรับรูปแบบการวางแผนงานใหม่ ที่ผ่านมา ใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในองค์กรไปพอสมควร จากนี้ไปจะดีขึ้น”

2.วางแนวทางการออกกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง “เราปรับแนวทางการทำงานใหม่ คือ ก.ล.ต.จะไม่ศึกษากฎหมายมาก่อน แต่เมื่อจะออกกฎหมาย ก.ล.ต.จะเดินเข้าไปหาองค์กรเลย เข้าไปถามว่าถ้า ก.ล.ต.จะออกกฎหมายบังคับเรื่องนี้...ควรจะมีแนวทางอย่างไร บังคับ-ไม่บังคับเรื่องไหน?... จากนั้นทาง ก.ล.ต.จึงเดินหน้าศึกษากฎหมายจากต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นโครงในการร่างกฎหมายของเราขึ้นมาเอง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทันต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า คือ ให้ ก.ล.ต.ร่างกฎหมายควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ไปเลย พอถึงขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์จริงๆ องค์กรเอกชนเขาก็เข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมมือกับเรา ให้ข้อมูลแก่เราว่ากฎหมายควรออกมารูปแบบใด”
“ลักษณะการทำความผิดคงเป็นแบบเดิมๆ คือ การบอกต่อ ผู้ที่ต้องการปั่นราคาหุ้นฝากเพื่อนให้สร้างกระแสให้เกิด “ข่าว” เพียงแต่แนวทางการกระทำความผิดมันเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมันเร็วขึ้น การทำงานของเราก็คือ การป้องกัน การสร้างความรู้ให้นักลงทุน ถ้าเขามีความรู้ เขาเข้าใจลักษณะการลงทุน ใครจะสร้างกระแสเขาก็จะลงทุนอย่างเข้าใจ”

3.วางรากฐานในการจัดทำแผนการดำเนินงานระยะ 3 ปีได้แก่ (1) ยกระดับและรักษามาตรฐานให้เป็นสากล (2) เพิ่มประสิทธิภาพการป้องปราม ตรวจจับการกระทำผิด และบังคับใช้กฎหมายรองรับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (3) สร้างสินค้าและบริการทางการเงินให้หลากหลาย ดึงดูดผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนทั่วโลก เป็นศูนย์เชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค (4) เปิดช่องทางให้กิจการสามารถเข้าถึงทุนในรูปแบบที่เหมาะสม (5) สร้างผู้ลงทุนคุณภาพ และทำให้ประชาชนวางแผนทางการเงินเป็นโดยใช้ประโยชน์จากตลาดทุน และ (6) ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาตลาดทุนให้สัมฤทธิผล

ยกระดับและรักษามาตรฐานให้เป็นสากล “ก.ล.ต.จะสานต่อนโยบายสนับสนุนให้มีสินค้าและบริการรวมถึงช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเป็น GMS Conector เพื่อดึงดูดผู้ระดมทุน และนักลงทุนทั่วโลก ตรงนี้เราก็ให้ความช่วยเหลือตลาดทุนเพื่อนบ้านทั้ง CLMV เพราะการที่จะพัฒนาศักยภาพตลาดทุนนั้นไม่ง่าย อย่างเช่นตอนนี้หุ้นที่เทรดอยู่ในตลาดเพื่อนบ้านเราบางประเทศมีเพียง 2 ตัวแล้วจะมีนักวิเคราะห์ที่ไหนมาวิเคราะห์ให้ เราก็เสนอไปว่า ให้นักวิเคราะห์ไทยเราทำให้ไหม ถ้าเปรียบเทียบกับไปก็คงเหมือนสมัยที่หุ้นไทยเทรดอยู่บนกระดานแต่นักวิเคราะห์นั่งอยู่ที่สิงคโปร์ ปัจจุบันเราก็มีหุ้นที่เทรดคู่กันทั้ง 2 กระดาน เช่นเดียวกัน อนาคตบริษัทในประเทศเพื่อนบ้านก็มีสิทธิที่จะเข้ามาระดมทุนในประเทศไทย ตรงนี้เราต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

การ “ปั่นราคาหุ้น” ในสายตาของเลขาธิการ ก.ล.ต. นามรพี นั้น “กระบวการ” กระทำความผิดนั้นยังคงดำเนินไปใน “รูปแบบเดิมๆ” กล่าวคือ ผู้ต้องการทำราคาหุ้น ต้อง “ฝากข่าว” ให้ “เพื่อน” โหมกระแสให้ “ข่าว” กระจายออกไปให้กว้างที่สุด ดังนั้น กฎหมายที่เปิดให้ ก.ล.ต. ดำเนินการ “ป้องกัน” และปราบปรามจึงมีอยู่แล้ว และสามารถใช้ได้อย่างจริงจัง แต่การจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ “เท่าทัน” ต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปต่างหากที่ “รพี” ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง “ผมมองว่าการทำความผิดนั้นมีได้เพียงรูปแบบเดียว คือ การ “กระพือข่าว” แต่วิธีการ “กระพือ” เปลี่ยนไปตามความทันสมัยของเทคโนโลยี เมื่อก่อนนี้อุปกรณ์ไฮเทคที่สุด คือ โทรศัพท์ ปัจจุบันมีไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็เป็นเพียงช่องทางการปล่อย “ข่าว” เท่านั้น ผมว่าเราต้องมองให้ตรง เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดทีเดียว คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักลงทุน ถ้านักลงทุนมีภูมิคุ้มกันที่ดีฟัง “ข่าว” แล้วคิดก่อนลงทุน “ข่าว” นั้นๆ ก็ไม่สามารถสร้าง “กระแส” จนนำพาไปสู่ความเสียหายได้ อีกอย่างหนึ่ง การเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต.สามารถฟ้องแพ่งได้ก็น่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างดีมากทีเดียวเพราะจะเป็นการชี้ชัดลงไปว่า เกิดความเสียหายขึ้นแล้วมีมูลค่าเท่านี้ น่าจะเห็นผลได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะนักลงทุนจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ก.ล.ต.ลงดาบแล้วนะ เห็นมูลค่าความเสียหายกันจังๆ จะตระหนักรู้ได้เร็วทีเดียว”

เปิดช่องทางให้กิจการสามารถเข้าถึงทุนในรูปแบบที่เหมาะสม “เบื้องต้น จะสนับสนุนเรื่อง Venture capital และ Private Equity fund เนื่องจากเป็นการผลักดันด้านเงินทุนต่อผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนมากยิ่งขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น