xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือ 10 บจ.ไทย-เทศ หยั่งเสียงระดมทุนทำธุรกิจในกลุ่ม GMS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ASTVผู้จัดการรายวัน - “สันติ กีระนันท์” ระบุตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มหารือความเป็นไปได้ในการใช้ตลาดหุ้นไทยระดมทุนในตลาดหุ้นไทยของ บจ.ไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ไปแล้ว คาดจำนวน บจ. ที่มีความเป็นได้จะมีอยู่ราว 10 บจ. ย้ำยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดหุ้น GMS ยังไม่สำคัญเท่าความจำเป็นที่ ก.ล.ต. ในกลุ่ม CLMV ควรต้องปรับปรุงกฎระเบียบในการกำกับดูแลและตรวจสอบที่ดีตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต.โลกกำหนดไว้เสียก่อน

สันติ กีระนันนท์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาดและดูแลสานงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (MCMC) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์สนับสนุนตลาดทุนไทยสู่การแข่งขันในเวทีโลก และเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทยว่า ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ได้เคยเริ่มหารือกับบริษัทจดทะเบียนทั้งเป็นของคนไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) ไปบ้างแล้ว โดยเขาคาดว่า จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยจะมีอยู่ 10 บริษัท

อย่างไรก็ตาม รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาดฯ ยังมองว่า การหารือในประเด็นดังกล่าวนี้ปัจจุบันยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องการมองถึงประเด็นการกำหนดแนวทางในการกำกับดูแล และตรวจสอบบรรดาบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศที่เข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศตนหลังจากนั้นได้อย่างไรบ้าง

“เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว บริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศนั้นแม้จะมีการทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มประเทศ GMS ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีสำนักงาน หรือสาขาของบริษัทฯ ตั้งอยู่จริงในประเทศกลุ่ม GMS ที่ตนได้มีการทำธุรกิจ หรือเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม GMS ด้วย จึงทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนเหล่านี้เกิดมีปัญหาหลังการเข้าระดมทุนขึ้นมาแล้ว หน่วยงานกำกับตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศจะสามารถติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ นั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคำถามเพิ่มเติมอีกว่า จะทำเช่นไรเพื่อที่จะทำให้ความร่วมมือนี้ไม่ได้เป็นแค่ความคิดที่ว่าบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศรายไหนคิดอยากจะมาระดมทุนก็มาได้ เพราะ ก.ล.ต. ในแต่ละประเทศก็จำเป็นที่ต้องมีการกำหนดมาตรการให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนในตลาดของพวกตนด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีของ ก.ล.ต. ใน GMS นั้น ยังคงมีประเด็นเรื่องความแตกต่างกันอยู่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งอาเซียนในบางประเทศเขาใช้กัน แม้สมาชิกประเทศทั้งที่อยู่ในกลุ่ม GMS และในกลุ่ม CLMV จะได้มีการลงนามบันทึกความเช้าใจในเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานกฎระเบียบการกำกับดูแลตลาดทุนของพวกตนกับ ก.ล.ต โลกไปแล้วก็ตาม แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ก.ล.ต. โลก

“เราเป็นกังวลในเรื่อง control และ monitor มากกว่า เพราะหลายๆ ประเทศในอาเซียนจะมีมาตรฐานการกำกับความควบคุม และดูแลที่ดีในระดับเดียวกับเมืองไทย แต่ประเทศในกลุ่ม CLMV นั้น มีหลายประเทศก็ยังไม่มีมาตรฐานที่ดีตามเงื่อนไขที่ ก.ล.ต.โลกเป็นผู้กำหนด เพราะตลาดทุนเขาก็เพิ่งจะมีการจัดตั้งมาได้แค่ไม่กี่ปี และพวกเราจะทำสิ่งนี้ไม่ได้เลยหากพวกเราไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ก.ล.ต.” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาดและดูแลสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บอกทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น