ที่ DSI ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย PAE และเครือข่ายปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย (กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น) เข้ายื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเลขาธิการ กลต.
โดยขอให้ตรวจสอบว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นบริษัท PAE ปรับตัวลดลงจากราคากว่า 3 บาท ลงสู่ 0.30 บาท และมีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ และมีนัยสำคัญ อีกทั้งคณะกรรมการของบริษัทฯ และ ผู้บริหารทั้งชุดปัจจุบันและในอดีตมีความเกี่ยวพันและเป็นหลานชายอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการทำธุรกรรมและลงมติที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องในกลุ่มตนเองอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารจัดการ และส่อว่าได้กระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเข้าข่ายเป็นคดีอาญา ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากกว่า 12,000 ราย จากการที่เข้าไปร่วมลงทุน
โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยตั้งขอสังเกต ดังนี้
1.ตรวจสอบธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัท PAE และ นางอุไรรัตน์ บุญอากาศ นางสาวจินตนา กาวีวงศ์ และนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ หลานชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ
2.ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการบริษัท PAE และกลุ่มผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มเฉพาะเจาะจงราคาต่ำทั้ง 2 ในปี 2557 และความสัมพันธ์ถึงบริษัท แคปปิเติล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ CEN บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ RWI บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC และบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC ซึ่งทั้งหมด นายชัยชนะ ลีนะบรรจง อยู่เบื้องหลัง และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การติดต่อประสานงาน ขั้นตอนการอนุมัติ การคัดเลือกผู้ได้รับจัดสรรโดยละเอียด รวมถึงตรวจสอบเจ้าหน้าที่การตลาดต่างๆ ว่า ผู้ได้รับจัดสรรเป็นเจ้าของบัญชีส่งคำสั่งซื้อขายเองจริงหรือไม่
3.ตรวจสอบขั้นตอนการอนุมัติ ที่คณะกรรมการบริษัท PAE มีมติให้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัท พีพีเอสเอนเนอยี่ แอนด์ มารีน จำกัด ซึ่งขาดทุนและเป็นการขายจากบริษัทแคปปิเติล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ CEN ซึ่งนายชัยชนะ ลีนะบรรจง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีส่วนเกี่ยวพันกับคณะกรรมการบริษัท PAE ทั้งชุด คล้ายกับเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์ให้เฉพาะบุคคล
4.ตรวจสอบขั้นตอนการอนุมัติ ที่คณะกรรมการบริษัท PAE มีมติขายหุ้น บริษัท พีเออี เทคนิเคิลเซอร์วิส จำกัด ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 โดยระบุว่า เป็นกองทุนของธนาคารออมสิน และธนาคารยูโอบี ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเป็นของนางทิพวรรณ อุทัยสาง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นนอมินีของนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ณ ขณะนั้น โดยนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ เป็นผู้อนุมัติรายการทั้งๆ ที่รู้ว่า บริษัทฯจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือว่าเป็นการทำให้บริษัท PAE เสียประโยชน์โดยตรง โดยขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การติดต่อประสานงาน ขั้นตอนอนุมัติโดยละเอียด
5.ตรวจสอบสาเหตุและการทุจริตภายในองค์กรตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน อันมีผลให้บริษัทขาดทุนต่อเนื่องเป็นจำนวนกว่า 1.6 พันล้านบาท และยังมีขบวนการปล่อยข่าวประชาสัมพันธ์จากกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป นักลงทุน เข้าใจผิดว่า บริษัทฯ จะมีกำไรและมีอนาคตที่ดี โดยมี นายสมพร มั่งมี นายรัฐภูมิ ภิชยภูมิ นางอุไรรัตน์ บุญอากาศ และนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ เป็นผู้ให้ข่าวร่วมกับหนังสือพิมพ์บางฉบับ
จากพฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบดังกล่าวข้างต้น จากการกระทำของคนกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่สลับซับซ้อน ซึ่งยากแก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปจะเข้าใจหรือรู้เท่าทัน ส่อเจตนาว่าทุจริตต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นอื่นๆ เข้าข่ายเป็นการร่วมมือกันกระทำความผิด และสร้างผลกระทบเกิดความเสียหายแก่ผู้นักลงทุนที่ลงทุนร่วมกับบริษัทฯ ที่บริหารโดยคนกลุ่มนี้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งขัดกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
จึงขอให้ท่านดำเนินการ ตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายสรชัช ทองเพ็ญ
ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องประโยชน์ผู้ถือหุ้นรายย่อย และตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย PAE