xs
xsm
sm
md
lg

“ArchiCAD BIM Conference 2015” สอดรับนโยบายสมาคมสถาปนิกสยามฯ สร้างมาตรฐาน BIM ในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ArchiCAD BIM Conference 2015 งานเปิดตัวซอฟต์แวร์ ArchiCAD 19 ครั้งแรกในเอเชีย รวมทั้งอัปเดตความรู้เทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) และนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับสถาปนิก และผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งยังเป็นการสอดรับตามทิศทางนโยบายของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดให้มี “คู่มือปฏิบัติวิชาชีพ แนวทางการใช้งานแบบจำลองสารสนเทศอาคารสำหรับประเทศไทย (Thailand BIM Guideline)” ขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนายกระดับมาตรฐานการทำงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับสากล โดยหวังเพิ่มจำนวนผู้ใช้ BIM ให้เทียบเท่าสิงคโปร์ และเป็นผู้นำในกลุ่ม AEC หวังภาครัฐให้การสนับสนุน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

สมศักดิ์ วรรักษา ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายธุรกิจ A/E/C บริษัท แอพพลิแคด กล่าวว่า “ปีนี้บริษัท แอพพลิแคด จำกัด ผู้นำเข้าซอฟต์แวร์ ArchiCAD BIM ได้เน้นกลยุทธ์การบริการหลังการขายที่จะทำให้ลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ได้อย่างจริงจัง และทำให้เป็นเครื่องมือสำหรับทำงานประจำวันเหมือนการใช้ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ นอกเหนือจากการอบรมพื้นฐาน และในระดับกลางแล้ว บริษัทฯ ได้เพิ่มเติมเรื่องการ Implementation กับงานจริงของลูกค้า ด้วยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในช่วงการทำโครงการจริง ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ BIM อยู่ประมาณ 1 ใน 10 ของกลุ่มสถาปนิกที่ใช้ ซอฟต์แวร์ออกแบบ เขียนแบบ รวมถึงกลุ่มผู้รับเหมาที่กำลังเริ่มหันมาใช้งาน BIM เพื่อช่วยงานด้านการออกแบบมากขึ้น เพราะมีความรวดเร็วมากกว่ากว่าการเขียนแบบด้วย CAD แบบเดิมๆ

“ในกลุ่ม AEC ประเทศสิงคโปร์ นับเป็นประเทศที่มีการใช้งานซอฟต์แวร์ BIM มากที่สุด เนื่องจากมีการส่งเสริมให้นำมาใช้งานในภาครัฐ โดยหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาตการก่อสร้าง BCA ที่ได้กำหนด และออกนโยบายมากว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องส่งข้อมูลแบบก่อสร้างมาให้ตรวจสอบในรูปแบบที่ทำด้วยเทคโนโลยี BIM เท่านั้น นับว่ามีความทันสมัยมาก แต่ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็มีการใช้เพียงประมาณ 25% เท่านั้น ถ้าเทียบกับระดับนานาชาติ เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยยังไม่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี BIM ในงานออกแบบที่นำเสนองานแบบ 3D ก็จะทำให้งานออกแบบล้าหลังกว่าประเทศอื่น ทั้งที่ไทยมีสถาปนิก และนักออกแบบที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับด้านผลงานในต่างประเทศมากมาย”

สำหรับ ArchiCAD BIM เป็นซอฟต์แวร์ที่มีประวัติมามากกว่า 30 ปี ในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเพิ่งเข้ามาสู่ตลาดเอเชีย ซึ่งกำลังมีการพัฒนาอย่างมากเรื่องการก่อสร้าง และออกแบบอาคารใหม่ ตลอดจนการรีโนเวตตึกเก่า หรือเกิดการพัฒนาพื้นที่เก่าอยู่ตลอดเวลา โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาไม่นาน ซึ่งเชื่อมั่นว่า การใช้งานเทคโนโลยี BIM ในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งในปีนี้สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มี “คู่มือปฏิบัติวิชาชีพ แนวทางการใช้งานแบบจำลองสารสนเทศอาคารสำหรับประเทศไทย (Thailand BIM Guideline)” ขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาปรับรูปแบบวิธีการทำงาน BIM ที่มีอยู่บนพื้นฐานเดียวกันอย่างมีมาตรฐานที่ดี อันจะช่วยให้การทำงานร่วมกันระหว่างบุคคล องค์กร และหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นอกจากนี้ สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า “ในส่วนของประสิทธิภาพการใช้งานอาจไม่ต้องพูดถึงเลย หากได้เคยเห็นการทำงานของ BIM ที่มีความเร็วในการทำแบบ มีความถูกต้องเรื่องแบบ และการถอดปริมาณ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการออกแบบ ทำแบบ เขียนแบบของวงการก่อสร้างในเมืองไทยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ครั้งที่สถาปนิก วิศวกร และช่างเขียนแบบโยนโต๊ะเขียนแบบ และไม้ทีทิ้งไป”

กิจกรรมภายในงาน ArchiCAD BIM Conference 2015 เป็นการเปิดตัว ArchiCAD 19 เวอร์ชันล่าสุด ซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และงานก่อสร้าง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Faster than ever” เทคโนโลยีการออกแบบด้วยระบบ BIM เต็มพิกัดกับความเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยปรับโครงสร้างเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ลื่นไหลไม่มีสะดุด สามารถช่วยให้การออกแบบและเขียนแบบ ไปจนถึงการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว และง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเรียนรู้ปัจจัยความล้มเหลว เพื่อเห็นมุมมองของความสำเร็จต่อการใช้ BIM ใน “Why BIM fail !!!” โดยผู้คร่ำหวอดในวงการซอฟต์แวร์ช่วยงานออกแบบและก่อสร้าง ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอพพลิแคด จำกัด

พร้อมเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลากมิติเพื่อรับมือ และรู้เท่าทัน ตลอดจนปรับตัวให้ทันในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ภายใต้หัวข้อ “Change” โดยสถาปนิกมากฝีมือที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ เจ้าของผลงานการออกแบบที่โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ อย่าง Honda Big Wing เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา หรือ Casa de La Flora บนหาดบางเนียง ที่มีรางวัล Best Architecture of Thailand จากประเทศมาเลเซียการันตี วสุ วิรัชศิลป์ Managing Director แห่ง VaSLab Architecture ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรม “ArchiCAD Design & Skill Contest 2015” การแข่งขันประกวดออกแบบสถาปัตยกรรมบนมาตรฐาน BIM สำหรับนิสิต นักศึกษารอบสุดท้าย พร้อมพิธีมอบรางวัลอีกด้วย

(ข่าวประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น