xs
xsm
sm
md
lg

ความต่างบนความเหมือนระหว่างสองมหานคร นิวยอร์ก : กรุงเทพฯ/สรวง สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขออนุญาตนำข้อเขียนของลูกชายคนโตวัย 17 ปี ชื่อต้นน้ำ หรือ สรวง สิทธิสมาน มาเผยแพร่ต่อเนื่องเป็นตอนที่สาม ซึ่งเป็นตอนจบ หลังจากถ่ายทอดผ่านเมืองซีแอตเติล, วอชิงตัน ดี.ซี. และมาถึงคราวนิวยอร์กซิตีบ้าง ภายหลังจากที่เราท่องเมืองนิวยอร์กร่วมกัน 6 วันเต็ม ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และลองให้เขาได้ถ่ายทอดต่อเนื่องจากสิ่งที่พบเห็นอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบจากนิวยอร์กและกรุงเทพมหานคร เมืองที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน !
อยากลองให้ฟังเสียงจากเยาวชนดูบ้างค่ะ
........

การทัวร์อเมริกาครั้งนี้จบลงที่มหานครนิวยอร์ก เมืองแห่งความศิวิไลซ์ ที่รวมประชากรหลากหลายชนชาติที่เข้ามาแสวงหาโอกาสทำมาหากินในมหานครแห่งนี้ ผมโชคดีอีกครั้งที่มีอาหมู (ยุทธนา ลิ้มเลิศวาที) เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์นำเดินเที่ยวมหานครขนาดใหญ่ในมุมที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น

อาหมูเป็นคนไทยที่เข้าไปทำมาหากินในนิวยอร์กกว่า 30 ปี เริ่มจากธุรกิจร้านอาหารไทยซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในนิวยอร์ก ก่อนจะขยายธุรกิจไปอีกหลายแขนง ในระหว่างที่เดินเที่ยวในนิวยอร์ก อาหมูก็ได้บรรยายความเป็นไปในมหานครแห่งนี้ ผมได้เรียนรู้ในหลายสิ่ง และอยากจะมาถ่ายทอดผ่านบทความนี้

หลังจากได้เดินเที่ยวเมืองนิวยอร์กเป็นเวลา 6 วัน ผมก็พบว่าความจริงแล้ว นิวยอร์กก็เหมือนกับกรุงเทพมหานครของเรา คือ เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเหมือนกัน มีชาวต่างชาติหลากหลายเข้ามาแสวงหาโอกาสทำมาหากิน เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ชาวต่างจังหวัด และแรงงานต่างชาติในแถบอาเซียน โดยส่วนมากจะเป็น ชาวพม่า ลาว ฯลฯ ซึ่งจากบ้านเกิดเข้ามาแสวงโอกาสหางานทำ โดยโครงสร้างแล้วทั้งสองมหานครนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก

แต่บนความเหมือนกันนี้ก็มีความแตกต่าง

นั่นคือความแตกต่างในด้านของวิธีการ ระบบในการจัดการบริหารบ้านเมือง และด้านจิตสำนึกความรักชาติ

สหรัฐอเมริกามีสถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มากมายเพื่อเป็นสถานที่ปลูกจิตสำนึกในความรักชาติ เช่น อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ซึ่งเป็นรูปหล่อโลหะสำริดรูปเทพีห่มเสื้อคลุม มือขวาชูคบเพลิง มือซ้ายถือแผ่นจารึกคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ที่เท้าข้างหนึ่งมีโซ่ที่ขาด แสดงถึงความหลุดพ้นจากการเป็นทาส สวมมงกุฎเจ็ดแฉกแสดงถึงทวีปทั้งเจ็ด

อีกสถานที่หนึ่งคือ บริเวณของตึกเวิร์ลเทรดสองตึกที่ถูกเครื่องบินก่อการร้ายพุ่งชนถล่มลงในปี ค.ศ. 2001 ถูกสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียงแต่ไม่สร้างทับตัวตึกเก่าที่ถล่มแล้ว ส่วนในบริเวณตึกเก่าที่ถล่มก็ขุดหลุมสี่เหลี่ยมทำเป็นน้ำพุไหลลงสู่ก้นหลุมที่ลึกมากจนไม่สามารถมองเห็นก้นหลุมได้ โดยบริเวณรอบๆ หลุมสี่เหลี่ยมก็จารึกชื่อของผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนหลายพันคนเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพวกเขา นี่เป็นวิธีปลูกจิตสำนึกความรักชาติด้วยประวัติศาสตร์คนในชาติจึงได้รักกันอย่างเหนียวแน่น

การวางระบบของถนนหนทางต่างๆ ในนิวยอร์กค่อนข้างที่จะจำง่ายโดยใช้ตัวเลขในการบอกชื่อของถนน เช่น 5th avenue ,74th street การใช้ระบบตัวเลขเหล่านี้ง่ายต่อการเดินทาง นัดหมาย และบอกตำแหน่ง เช่น การบอกคู่นัด ว่าตอนนี้เราอยู่ที่ตึกในบล็อกระหว่าง 5th avenue และ 6th avenue ตัดกับถนนที่ 34th street นอกจากนี้ การวางระบบขนส่งมวลชนโดยใช้รถไฟใต้ดินที่ทั้งสะดวกและทั่วถึง บอกตำแหน่งชัดเจนทำให้คนมีทางเลือกอื่นนอกจากการขับรถบนท้องถนน ไม่จำเป็นที่จะต้องเคร่งเครียดและอารมณ์เสียกับการจราจรที่ติดขัด ผมคิดว่าการจราจรมีผลต่ออารมณ์ของคนในเมือง เมื่อการทำงานนั้นเคร่งเครียดอยู่แล้ว ยังต้องมาเคร่งเครียดกับการจราจรที่ล่าช้าอีก อาจทำให้คนมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวและใจร้อน ขับรถด้วยความเร่งรีบ นั่นก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่พลเมืองอเมริกันมิเพียงเเค่พลเมืองนิวยอร์กมีนั้น คือ ค่อนข้างมีความเป็นระเบียบ และเคารพในกฎหมาย การที่จะควบคุมคนนับล้านคนในรัฐนั้นจะต้องทำให้กฏหมายศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่ทำผิดกฎเป็นอันต้องถูกลงโทษ มิเพียงแค่โทษทางกฎหมายเท่านั้น แต่ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์คดโกงบ้านเมืองในอเมริกานั้นส่วนใหญ่โดนโทษทางกฎหมายแล้ว ยังต้องโดนสังคมประณามด้วย และเมื่อผู้คนเคารพในกฎหมายแล้ว การควบคุมบริหารบ้านเมืองก็ง่ายขึ้น บ้านเมืองก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว

โดยภาพรวมแล้ว มหานครนิวยอร์กเป็นเมืองที่สมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ทุกส่วน ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์พร้อมไปเสียหมดทุกอย่างหรอก อาหมูได้พาผมเดินไปยังสถานที่หนึ่ง คือ ห้าง Chelsea Market ซึ่งเป็นโรงงานร้างเก่าอยู่ติดกับสวนสาธารณะ High-line park ซึ่งเป็นทางรถไฟเก่าสำหรับให้รถไฟนำของมาส่งเข้าโรงงาน ทั้งสองที่นี้เคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรมในนิวยอร์ก แต่ปัจจุบันกลับเป็นสถานที่วัยรุ่นนิยมเป็นอย่างยิ่ง ในห้าง Chelsea Market ได้มีการพัฒนาให้เป็นตลาดสดและนำร้านค้าสินค้าแฮนด์เมดมาขาย โดยมีการตกแต่งภายในแบบอนุรักษ์ให้เหลือภาพของโรงงานเอาไว้อย่างนั้น กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย

ส่วนสวนสาธารณะ High-line park นั้นก็ใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับห้าง Chelsea Market คือ ทิ้งคราบเก่าของทางรถไฟร้างเอาไว้ โดยปลูกต้นไม้ดอกไม้ไว้เป็นแปลงๆ ขึ้นบนรางรถไฟ ทำที่นั่งในลักษณะอัฒจันทร์ให้นั่งชมวิวถนนข้างล่าง ผมชอบที่นี่มาก เพราะไอเดียในการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมเก่าให้กลายเป็นที่นิยมของวัยรุ่นสมัยใหม่ ขณะที่ผมนั่งชมวิวอยู่บนอัฒจันทร์นั้น ผมก็เกิดความคิดว่า “ที่กรุงเทพฯจะมีแบบนี้บ้างไหมหนอ”

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ไม่กี่ส่วนเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผมเห็นและอยากจะถ่ายทอด แต่ที่ผมเลือกประเด็นความแตกต่างบนความเหมือนนี้เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังอยู่ในช่วงรอยต่อในการพัฒนาประเทศ และการที่ผมมีโอกาสที่ดีได้ไปเยือนต่างแดนและเห็นสิ่งดีๆ เหล่านั้นและนำมาถ่ายทอดเพื่อที่อาจจะเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในขั้นต่อๆ ไป เผื่อบางทีรุ่นพวกผมจะมีโอกาสได้เห็นบ้าง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่








กำลังโหลดความคิดเห็น