xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์ตรอนยันไม่มีการเลื่อน COD แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โซลาร์ตรอน ยันไม่มีการเลื่อน COD ออกไปเป็นกลางปี 2560 และ 2561 เหตุต้องเป็นไปตามราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการฯ เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ลงทุน กับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่มีอายุสัญญา 25 ปี พร้อมกับ SOLAR ได้จัดโครงสร้างของบริษัทลูกเพื่อรองรับไว้ถึง 5 บริษัท สามารถลงทุนสูงสุดได้ถึง 250 MW

ต่อประเด็นกระแสข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือน ก.ค.นี้ จะเสนอ กพช.ให้พิจารณาเลื่อนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ราชการและสหกรณ์การเกษตร 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากต้องศึกษาอย่างรอบด้าน โดยจะเลื่อนเข้าระบบเป็นช่วงปี 2560-2561 และปรับกำลังการผลิตให้เหลือ 500 เมกะวัตต์

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR ขอชี้แจงต่อประเด็นข่าวดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ กรณีแรกจะมีการเลื่อน COD ออกไปเป็นกลางปี 2560 และ 2561 ซึ่งตามราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้า ลงวันที่ 13 มีนาคม 2558 โครงการ 800 MW Solar Farm สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตร ระบุเรื่องการกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ไว้ ดังนี้

ดังนั้น จึงไม่สามารถเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ไปเป็นมิถุนายน 2560 ได้ ยกเว้นแต่ว่าต้องไปผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายที่จะให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ให้ความเห็นชอบ เพราะการลงทุนในโครงการ 800 MW เป็นการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท และมีความพร้อมที่จะลงทุนทันทีโดยไม่ต้องใช้เงินทุนภาครัฐ ดังนั้น กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ไปสู่ชนบททั่วประเทศโดยทันที และยังกระตุ้นการสร้างงานโดยไม่ต้องรอรัฐบาลถัดไป (2560-2561)

กรณีที่สอง ปัญหามาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.) หรือ มาตรฐาน IEC ซึ่งการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการฯ เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ลงทุน กับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เพราะแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแผงที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี และเป็นอุปกรณ์หลักของโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์มีมูลค่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุน ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเลือกใช้แผงที่มีคุณภาพ และสามารถเปลี่ยนแผงทดแทนได้ตลอดระยะเวลา 25 ปี

การใช้แผงฯ นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคำนึงถึงราคาที่ถูกเพียงอย่างเดียว หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขายไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากแผงไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ และอาจทำให้เกิดปัญหาในการดูแลโรงไฟฟ้า ดังนั้น จึงควรเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน มอก. (มีโรงงานในประเทศไทย) และ IEC ซึ่งสามารถติดต่อโรงงานผู้ผลิตในประเทศไทยได้ตลอด 25 ปี

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในประเทศไทย และมีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน IEC เพียงพอสำหรับโครงการ 800 MW ดังนั้น ผู้ลงทุนและหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรจะสามารถติดต่อ และใช้บริการได้ตลอด 25 ปี และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

และสุดท้าย ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในโครงการนี้ได้ไม่เกินบริษัทละ 50 MW นั้น ทาง SOLAR ได้จัดโครงสร้างของบริษัทลูกเพื่อรองรับไว้ถึง 5 บริษัท จึงสามารถลงทุนสูงสุดได้ถึง 250 MW


กำลังโหลดความคิดเห็น