ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มการประนอมหนี้กรีซอาจบานปลาย เหตุประชาชนกรีซที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดเพื่อแลกต่อแผนความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ อาจกระทบรากฐานเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนทั้งระบบ
ผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2558 ของประชาชนชาวกรีซสิ้นสุดลงด้วยผลโหวตกว่าร้อยละ 61 ที่ปฏิเสธข้อเสนอปฏิรูปประเทศด้วยมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรป ซึ่งส่งผลทำให้ผู้นำยุโรปนัดหารือกันหลายระดับ เพื่อกำหนดท่าทีต่อความเคลื่อนไหวถัดไปหลังผลการลงประชามติดังกล่าว ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลกรีซเองนั้น ก็คงอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเปิดการเจรจาเรื่องแผนความช่วยเหลือรอบใหม่ต่อกลุ่มเจ้าหนี้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความซับซ้อนของการเจรจาในรอบนี้ไม่ได้มีแค่เพียงการกำหนดรายละเอียดของมาตรการรัดเข็มขัดเท่านั้น แต่ยังมีเงื่อนไขเวลาที่ทำให้รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องเร่งหาข้อสรุปสำหรับแผนความช่วยเหลือรอบที่ 3 ให้ได้ก่อนวันที่ 20 ก.ค.2558 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่อยู่ในมือของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำนวน 3.5 พันล้านยูโร เพราะหากกรีซผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในส่วนนี้ ก็อาจทำให้ช่องทางความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉินที่ธนาคารพาณิชย์กรีซได้รับจาก ECB (มาตรการ ELA) ปิดตัวลงไปโดยปริยาย ซึ่งเท่ากับว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ของกรีซคงไม่สามารถกลับมาฟังก์ชันได้อีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้อาจสามารถกล่าวได้ว่า ผลการลงประชามติของประชาชนชาวกรีซที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดเพื่อแลกต่อแผนความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ นับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซ และกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปเหลือทางออกอยู่ไม่มาก ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่การเจรจาระหว่างกรีซกับฝ่ายเจ้าหนี้ประสบความล้มเหลว ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กรีซจะต้องแยกตัวออกมาจากยูโรโซนไปโดยปริยาย ขณะที่ทางการของสมาชิกยูโรโซนที่เหลืออีก 18 ประเทศ และ ECB เอง ก็จะต้องเตรียมรับมือต่อบททดสอบครั้งสำคัญของระบบเงินยูโรโซน นอกเหนือไปจากการรับรู้ความสูญเสียของเงินกู้ที่ปล่อยให้กรีซไปแล้วกว่า 3.25 แสนล้านยูโร ดังนั้น ความเสี่ยงของกรีซคงเป็นความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่รออยู่ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาทเป็นระยะๆ ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า