xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้จัดการ mai” ปลื้มพัฒนาการตลาด 4 แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดยประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai
ตลาดหลักทรัพย์ mai ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้จัดงาน “mai Forum 2015 มหกรรมรวมพลังคน mai ยกกำลัง 2” เพื่อแสดงศักยภาพ 90 บจ. แก่นักลงทุน พร้อมเปิดเวทีผู้นำประกอบการ และธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต รวมถึงกิจการเพื่อสังคมได้ใช้ประโยชน์จากการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ในช่วงเช้ายังได้มีการจัดงานเสวนาพิเศษหัวข้อเรื่อง “ตลาดเงินแหล่งระดมทุนของกิจการสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน”

โดยประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai สรุปภาพรวมพัฒนาการ และความก้าวหน้าของตลาด mai ในรอบ 16 ปีที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวม 400,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากช่วง 5 ปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ได้เจริญเติบโตจนย้ายเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว 19 ราย ซึ่งทั้งหมดนั้นมีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท และในปีนี้จนถึงปัจจุบันยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าจดทะเบียนในตลาด mai เพิ่มเติมอีก 10 ราย

สำหรับมูลค่าการระดมทุนรวมของ บจ.ในตลาด mai เขาระบุว่า มีมูลค่าทั้งสิ้น 68,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเข้าระดมทุนโดยการออกหุ้น IPO ของ บจ. ที่เข้าใหม่ 31,737 ล้านบาท และเป็นการระดมทุนเพิ่มทุนหลังเข้าการจดทะเบียนแล้ว 36,503 ล้านบาท ผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ รวม 262 เครื่องมือ นอกจากนี้ เขายังย้ำด้วยว่า การระดมทุนในตลาด mai ไม่ถือเป็นคู่แข่งกับธุรกิจการสินเชื่อของธนาคาร แต่เป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผู้จัดการตลาด mai ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนตัวเลขการระดมทุนของ บจ. โดยการขายหุ้นผ่านตลาด mai ทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท และการขอสินเชื่อจากธนาคาร 50,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว
วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
ด้านวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถส่งต่อกิจการจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้นั้น ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากจำนวนธุรกิจกลุ่มนี้ทั้งมีลักษณะเป็น บจ. และเป็นธุรกิจของครอบครัวนั้นมีรวมกันประมาณ 2-3 ล้านราย โดยในจำนวนรวมนี้จะมีการจดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 1 ล้านรายเศษ

ส่วนที่เป็นธุรกิจซึ่งมีขนาดใหญ่จริงๆ นั้นจะมีไม่ถึง 10,000 ราย และที่ active จริงๆ ก็มีไม่ถึง 200,000 รายซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นธุรกิจครอบครัว ปัญหาคือ ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโต และแข็งแกร่งได้ในอนาคตจนสามารถส่งต่อธุรกิจจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งได้ นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยเกี่ยวกับ Business Model ในต่างประเทศก็ระบุไว้ว่า การส่งต่อธุรกิจจากคนรุ่นหนึ่งที่ 1 ไปสู่รุ่นที่ 2 จะมีโอกาสเหลือแค่เพียง 50% ขณะที่การส่งต่อธุรกิจจากคนรุ่นที่ 2 สู่รุ่นที่ 3 จะมีเพียงไม่ถึง 20% และการส่งต่อจากคนรุ่นที่ 3 ถึงคนรุ่นที่ 4 จะลดลงเหลือต่ำกว่า 5% แต่การที่จะรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้จริงๆ จะมีไม่ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่าการสร้างธรรมนูญการทำธุรกิจของครอบครัวจะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก และธุรกิจกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องมีมืออาชีพเข้ามา เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจจะได้รับการส่งเสริม และมีมุมมองในเชิงกลยุทธ์การทำธุรกิจ ซึ่งการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ก็จะเป็นการเปิดทางให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น