“รมว.คลัง” คาด 2 สัปดาห์ เสนอ ครม. พิจารณารายชื่อผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ย้ำต้องเป็นผู้ทนแรงกดดันการเมืองได้ดี เผย “หม่อมอุ๋ย” รับได้ รายชื่อ “วิรไท-ศุภวุฒิ” ผ่านรอบตัดเชือก ขณะที่ “แบงก์ชาติ” เผย “กนง.” และ “กนส.” ห่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กระทบคุณภาพหนี้เอกชน และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า หลังจากคณะกรรมการสรรหาได้เปิดให้ผู้สมัครทั้ง 5 คนแสดงวิสัยทัศน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่งรายชื่อมาให้พิจารณา 2 รายชื่อ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับรายชื่อที่ส่งมาให้คัดเลือก
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ธปท. โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีต้องมีประสบการณ์การทำงานสูง มีบุคลิกที่ดีเป็นที่ยอมรับ และปราดเปรียวปรับตัวตามได้ไม่ให้การเมืองแทรกแซง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะพิจารณาได้แล้วเสร็จและเสนอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กระทรวงการคลังเสนอ 2 รายชื่อ คณะกรรมการสรรหาเสนอขึ้นไปประกอบด้วย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ และนายวิรไท สันติประภพ
ด้านรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ครั้งที่ 1/2558 วันนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยมีมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน ทำให้คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่มากขึ้นยังไม่ถึงขั้นเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องจากฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งจากเงินกองทุน และการกันสำรองที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี มีส่วนช่วยรองรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนั้น ที่ประชุมประเมินว่า ความเสี่ยงจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ต่อระบบการเงินยังมีจำกัด แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ความผันผวนในตลาดการเงินไทยซึ่งได้รับผลจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในวงจำกัด
ที่ประชุมเห็นว่า ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับตัวของภาคเอกชน ตลอดจนกระทบต่อฐานะการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนมากขึ้น และอาจกลับมาส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มขึ้นในอนาคต