ธปท. ปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.8 เผยสาเหตุภาคส่งออกโดนกระทบหนัก ติดลบสูงถึงร้อยละ 1.5 พร้อมเชื่อรัฐบาลสามารถรับมือกับโรคเมอร์สได้ ส่วนแนวโน้มปี 59 คาดจีดีพีไทยเติบโตได้ร้อยละ 4.1 จากส่งออกที่ฟื้นตัว และการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ รมช.คลัง ยืนยันไวรัสเมอร์สไม่กระทบเศรษฐกิจ ลั่นก่อนหน้านี้เจอ หวัดนก-ซาร์ส ผ่านฉลุยมาแล้ว
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 สาเหตุหลักมาจากการส่งออกติดลบร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนขยายตัวต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากวขยายตัวเพียงร้อยละ 2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะติดลบร้อยละ 0.5 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.2 แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นสัญญาณที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยจะเห็นชัดเจนในช่วงเดือนกันยายน แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอมากกว่าคาด และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาดจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการเปิดจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ทันกับเม็ดเงินที่มากขึ้น โดยคาดว่า การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ร้อยละ 12.8 เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ยังคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 28.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจากโรคเมอร์ส เนื่องจากสถานการณ์เพิ่งเกิดขึ้นและเชื่อว่าไทยจะสามารถควบคุมได้ เพราะมีประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาด เช่น โรคซารส์ ซึ่งมีทั้งมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรอง และป้องกันอย่างเต็มที่
ส่วนปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกที่จะขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 2.5 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 7 ปี ด้านอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การระบาดของไข้หวัดโรคเมอร์สกระทบกับเศรษฐกิจไทยไม่มาก เพราะมีผู้ติดเชื้อในไทยเพียงแค่รายเดียว และทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยก็มีแผนรับมือกับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการเตียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าจะควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์รับมือกับไข้หวัดนก และโรคระบาดซาร์ส ซึ่งในขณะนั้นมีความรุนแรงมากกว่านี้มาแล้ว ทำให้ป้องกันและการแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดเมอร์สได้มีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา