xs
xsm
sm
md
lg

Futures Spread Trading ... บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช  ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
Futures Spread Trading คือ การเก็งกำไรส่วนต่างระหว่างฟิวเจอร์ส 2 ตัว ซึ่ง 2 ตัวนี้อาจจะเป็นฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงตัวเดียวกันก็ได้ หรืออาจจะมีสินค้าอ้างอิงคนละตัวก็ได้ โดยการเก็งกำไรแบบนี้ไม่ค่อยสนใจทิศทางของตลาดเท่ากับการเก็งกำไรฟิวเจอร์สตัวเดียวที่เขาเรียกว่า Outright การเก็งกำไรแบบนี้รายย่อยไม่ค่อยชอบเพราะมันไม่หวือหวา และต้นทุนจากค่าธรรมเนียมการซื้อขายค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้ฟิวเจอร์ส 2 ตัวถึงจะเก็งกำไรส่วนต่างได้ ลองมาดูว่า Spread Trading แต่ละชนิดมันต่างกันยังไง แล้ววัตถุประสงค์คืออะไร

Inter-commodity Spread Trading คือ การซื้อขายฟิวเจอร์สคนละสินค้าอ้างอิงกัน มักจะใช้เมื่อเราต้องการเก็งกำไรฝั่งซื้อตัวที่น่าจะขึ้น หรือ Outperform แล้วก็เก็งกำไรฝั่งขายตัวที่น่าจะลง หรือ Underperform เช่น สมมติว่า หากเรามองว่าในอนาคตธนาคารไทยพาณิชย์ SCB น่าจะเติบโตได้ดีกว่าธนาคารกรุงเทพ BBL แสดงว่าหากตลาดหุ้นโดยรวมปรับขึ้น หุ้นธนาคาร SCB ก็น่าจะปรับขึ้นได้แรงกว่าหุ้นธนาคาร BBL แต่ถ้าตลาดโดยรวมปรับลง หุ้น SCB ก็น่าจะปรับลงน้อยกว่าถ้าเทียบกับ BBL เพราะฉะนั้น ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือจะลง ขอแค่ SCB มีผลงานที่โดดเด่นตามคาดก็พอ

ยกตัวอย่าง สมมติ ปัจจุบันราคาหุ้น SCB อยู่ที่หุ้นละ 160 บาทต่อหุ้น และหุ้น BBL อยู่ที่ 179 บาท ถ้าเราคาดว่า SCB น่าจะ Outperform หรือน่าจะโดดเด่นกว่า BBL ที่น่าจะ Underperform สิ่งที่เราทำได้คือ
 
1.ซื้อหุ้น SCB แล้วขายช็อตหุ้น BBL หรือการทำ SBL หุ้น BBL นั่นเอง แต่การจะช็อตหุ้นในมูลค่าเท่าๆ กันอาจจะยุ่งยากนิดนึงตรงต้องมีบัญชี SBL โดยเฉพาะ และมีการวางหลักประกันค่อนข้างเยอะ ประกอบกับมีดอกเบี้ยค่ายืมหุ้นด้วย ทำให้วิธีนี้หลายคนไม่ค่อยชอบ

2.ทำการ Long SCB Futures แล้วไป Short BBL Futures ด้วยมูลค่า 2 ฝั่งเท่าๆ กัน ก็สามารถทำได้ แถมใช้เงินน้อยกว่าวิธีที่ 1 ค่อนข้างมากด้วย เนื่องจากตลาดฟิวเจอร์สมี Leverage เรียกว่าใช้เงินน้อยกว่าปกติ 10 เท่า แต่ข้อเสียก็คือ สภาพคล่องของฟิวเจอร์สหุ้นบางตัวมันมีน้อย ซึ่งก็ต้องแก้ไขด้วยการทำ Block Trade ไปเลย

สมมติว่าเราเลือกวิธีที่ 2 ไป แล้วเปิด Long SCBU15 หรือสัญญาล่วงหน้าหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ อายุถึงเดือนกันยายน ปี 2015 ที่ราคา 161 บาท แล้วไป Short BBLU15 หรือสัญญาล่วงหน้าหุ้นธนาคารกรุงเทพ อายุเดือนกันยายนปี 2015 เหมือนกันที่ ราคา 180 บาท โดยทั้งคู่มูลค่าสัญญา 1 ล้านบาทเท่ากัน พอเวลาผ่านไปแล้วเป็นไปอย่างที่คาด งบการเงิน SCB ออกมาดีกว่า BBL ก็จะทำให้หุ้นอ้างอิง SCB ขึ้นได้ดี หรือลงน้อยกว่าหุ้น BBL ซึ่งก็จะส่งผลให้ฟิวเจอร์สตัว SCBU15 ขึ้นได้สูงกว่า หรือลงน้อยกว่า BBLU15 เช่น ราคา SCBU15 กลายเป็น 170 บาท แล้ว BBLU15 กลายเป็น 186 บาท สิ่งที่เราจะได้ก็กำไรจาก SCBU15 ที่ซื้อไป 161 บาท แล้วขายไปที่ 170 บาท ได้กำไรมา 9 บาท ส่วน BBLU15 ก็ขาดทุน 6 บาท สุทธิแล้วก็จะบวกจากตัว SCB มากกว่าที่ขาดทุนใน BBL

สำหรับ Spread อีกแบบหนึ่งที่นักลงทุนทำได้ก็คือ Calendar Spread หรือ Inter commodity Spread ซึ่งครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงกันครับ

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น