xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริธัช โรจนพฤกษ์” ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย สุทธิชัย-บอร์ด เนชั่น มัลติมีเดียฯ เหตุกันไม่ให้เข้าประชุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ศิริธัช โรจนพฤกษ์” โร่ยื่นฟ้องคดีแพ่งร้องค่าเสียหายผู้บริหาร เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กรณีไม่ให้เข้าร่วมประชุม มูลค่าของค่าเสียโอกาส 51,900,800 บาท ขณะศาลได้รับคำฟ้อง และนัดจำเลยทั้งหมด 10 ส.ค.นี้

นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ผู้ถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เปิดเผยว่า ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กรณีที่นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และกรรมการทั้งหมดของ NMG รวมจำนวน 10 คน โดยจำเลยทั้ง 10 คนดังกล่าวมีหน้าที่จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี และให้ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิเข้าประชุม และใช้สิทธิออกเสียง เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเปิดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค

โดยปรากฏว่า ผู้รับมอบฉันทะของ นายศิริธัช ได้ไปลงทะเบียนกลับมีลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยทั้ง 10 คนไม่รับการลงทะเบียน โดยอ้างว่าจำเลยทั้ง 10 คนมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้รับมอบฉันทะจากนายศิริธัช เข้าร่วมประชุม และห้ามผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เข้าร่วมประชุมซึ่งมีสิทธิเข้าร่วมประชุม และลงมติตามกฎหมาย แต่กลับให้ยินยอมให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งแสดงตนเป็นชมรมคนรักเนชั่น หรือแสดงตนเป็นพวกพ้องของจำเลยทั้งทั้ง 10 คนให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้

ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการ เกรงว่า โจทก์ หรือผู้ถือหุ้นอื่นอาจมีการเสนอให้ถอดถอน และแต่งตั้งกรรมการใหม่ ทำให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการ คนใดคนหนึ่งต้องหลุดพ้นจากตำแหน่ง และไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นกรรมาการบริหารอีก ทำให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 จะสูญเสียอำนาจการบริหารกิจการ หลังจากนั้น จำเลยทั้ง 10 คน ได้ดำเนินการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นโดยให้กลุ่มผู้ถือหุ้นของพวกตนไปฝ่ายเดียว การกระทำของจำเลยทั้ง 10 คน เป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโชยน์โดยมิชอบ สำหรับกลุ่มพวกตัวเองที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารต่อไป อันเป็นการร่วมกันบริหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยปราศจากตัวแทนผู้ถือหุ้นในการตรวจสอบการบริหาร

ขณะที่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 ห้ามและขัดขวางไม่ให้ตัวแทนของโจทก์เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อใช้สิทธิในการร่วมประชุมเพื่อออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการ หรือถอดถอนกรรมการบริษัท ใช้สิทธิที่จะเข้าร่วมใการตัดสินใจ และทราบถึงผลการตัดสินใจของบริษัทที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เป็นการกระทำในฐานะัจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำเช่นนั้นเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย

สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 ในฐานะกรรมการ และผู้บริหารบริษัท ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างมีมาตรฐานทางจริยธรรมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกรายโดยเท่าเทียมกัน แต่กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยควาซื่อสัตย์ และทำการโดยสุจริต เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ด้านการที่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 ห้ามและขัดขวางไม่ให้ตัวแทนของโจทก์เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และใช้สิทธิในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทใช้สิทธิที่จะเข้่ร่วมในการตัดสินใจของบริษัทที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 เป็นการกระทำในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 10 รับผิดชอบต่อโจทย์ด้วย

ทั้งนี้ นายศิริธัช จึงฟ้องให้จำเลยทั้ง 10 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

1.ค่าเสียหายที่ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

2.ค่าเสียหายที่ทำให้หลักทรัพย์ของนายศิริธัช มีมูลค่าตกต่ำลง เนื่องจากผู้บริหารไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติหน้าที่่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อกฎหมาย และข้อบังคับ เป็นเหตุให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุน หรือถือหุ้น NMG

3.ค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 51,900,800 บาท พร้อมกันนี้ ศาลได้รับคำฟ้อง และศาลได้นัดจำเลยทั้งหมดในวันที่ 10 ส.ค.2558 เวลา 13.30 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น