QTC ฟุ้งได้งานจาก กฟภ. มูลค่า 182 ล้านบาท ส่งผล Backlog ในปัจจุบันแตะ 416 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอด Backlog 204 ล้านบาท ประธานบอร์ดระบุ รอลุ้นผลประมูลงาน กฟน. มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านบาท ภายในสิงหาคมนี้ มั่นใจจะได้ออเดอร์ใหม่เข้ามา 10-15% พร้อมเร่งขยยายตลาดเพิ่ม ดันเป้ายอดขายปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อใหม่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 182 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ไตรมาส 2/2558 นี้ บริษัทฯ มี Backlog รวม 416 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มี Backlog 204 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากออเดอร์ที่ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแผนจากการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีศักยภาพในการรองรับยอดคำสั่งซื้อได้ถึง 1,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บริษัทฯ ยังคงมีศักยภาพในการรับงานอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.กลุ่มรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ 2.กลุ่มเอกชน 3.กลุ่มส่งออก ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนรายได้บริษัทฯ ปีนี้ โดยแบ่งเป็นงานภาครัฐประมาณ 30-35% งานภาคเอกชนประมาณ 40-50% งานส่งออกประมาณ 15-20% งานบริการประมาณ 15-20%”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการรอผลประมูลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หลังจากที่มีการยื่นประมูลไปในช่วงก่อหน้านี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้น บริษัทฯ คาดว่าจะทราบผลการประมูลในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2558 โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถคว้างานดังกล่าวมาได้ประมาณ 10 -15% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะส่งผลให้ในครึ่งปีหลังบริษัทฯ จะรับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสอดคล้องต่ออัตราการเติบโตของบริษัทฯ ในปี 2558 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 30%
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนในการปรับกลยุทธ์ด้านการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเอกชน และตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ ได้ขยายกลุ่มลูกค้าไปที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับอานิสงส์จากแผนโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสที่จะส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อรองรับความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้า
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าประเภทหม้อแปลงไฟฟ้าชนิด Dry - Type Cast Resin ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดดังกล่าวยังมีอัตราการขยายตัวได้สูง เนื่องจากเป็นหม้อแปลงที่ติดตั้งเฉพาะภายในอาคารที่มีพื้นที่จำกัดเท่านั้น ดังนั้น ทำให้เป็นเชื่อมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องยอดขายให้บริษัทฯ ได้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับใบคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าชนิด Dry - Type Cast Resin เข้ามาอย่างต่อเนื่อง