รมว.คลัง ตั้งเป้าปี 2559 ต้องมีเกษตรกรเข้าร่วมประกันภัยข้าวนาปี 3,000,000 ไร่ พร้อมคาดกฎหมายพิเศษเพื่อชำระหนี้ 3 เดือน จะมีความชัดเจน ขณะที่ ธ.ก.ส. ใส่เกียร์เดินหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2558 ทุ่มงบประมาณ 476 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 1,500,000 ไร่
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 ที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้บริหารโครงการ และตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัย กับผู้รับประกันภัยเอกชน โดยระบุว่า ให้ ธ.ก.ส.ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายในส่วนเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวที่จ่ายจริง รวมทั้งค่าชดเชยต้นทุนเงินให้แก่ ธ.ก.ส.ปีงบประมาณถัดไปวงเงิน 476 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังให้ ธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไร่ละ 10 บาท โดยใช้เงินจากเงินกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการในฤดูเพาะปลูกเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2558 ครอบคลุมภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด มีการแบ่งพื้นที่การรับประกันภัยออกเป็น 5 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยง เพื่อจัดเก็บเบี้ยประกันภัยอัตราที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ ตั้งแต่ 124.12-483.64 บาท โดยเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 60-100 บาทต่อไร่ และรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 64.12-383.64 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัยวงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภท วงเงินคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด จ่ายสินไหมทดแทนใช้เกณฑ์การประเมินความเสียหายที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการปี 2554-2557 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายกรอบการเอาประกันภัยทั่วประเทศ 1.5 ล้านไร่ การดำเนินโครงการเริ่มขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม-14 สิงหาคม 2558 สำหรับทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ จะสิ้นสุดการรับทำประกันภัยวันที่ 11 ธันวาคม 2558
นายสมหมาย กล่าวเสริมว่า ตนเองได้ตั้งเป้าปี 2558 จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 3,000,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเป้าในปีนี้ที่คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,500,000 ไร่ โดยการที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จะทำให้เบี้ยประกันที่เกษตรกรจะต้องจ่ายมีแนวโน้มน้อยกว่าปัจจุบัน รวมถึงวงเงินที่จะได้รับการชดเชยจะมากกว่าปีนี้ที่ 1,111 บาทต่อไร่ด้วย
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง จะออกกฎหมายพิเศษเพื่อชำระหนี้ จำนวน 900,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว กองทุนประกันสังคม และหนี้ที่รัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้แก่ภาครัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กำลังพิจารณารายละเอียด คาดว่าภายใน 3 เดือนจะมีความชัดเจน