xs
xsm
sm
md
lg

ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น ไตรมาสแรกกำไรโตเฉียด 240%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

44
ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2558 โตสวนกระแส โกยรายได้จากการขายและบริการ 955.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.17% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 15.15 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนเฉียด 240% รับอานิสงส์รายได้ธุรกิจอสังหาฯ กว่า 48 ล้านบาท ปลื้มผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนรองรับการออกวอร์แรนต์ (TWZ-W4) ย้ำนำเงินไปใช้ประโยชน์สูงสุดด้วยการบุกตลาดสื่อสาร AEC ล่าสุด รุกตั้งตัวแทนขายในพม่า เผยกระแสตอบรับน่าพอใจ เตรียมปักหมุดขยายสู่ลาว และกัมพูชา

นางปิยะนุช รังคสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ ผู้จำหน่ายและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซิมการ์ด บัตรเติมเงิน และอุปกรณ์เสริม ภายใต้แนวคิด “Smart Phone For Everyone” เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2558 (มกราคมถึงมีนาคม) ของบริษัทฯ ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 955.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.40 ล้านบาท คิดเป็น 3.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 926.04 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 15.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 239.69% จากไตรมาส 1/2557 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 4.46 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสดังกล่าวบริษัทฯ ยังรับรู้รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีก 48.41 ล้านบาท

กรรมการผู้จัดการ TWZ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในไตรมาสแรกที่ผ่านมา กำลังซื้อส่วนใหญ่ชะลอตามภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ TWZ ยังสามารถเติบโตได้อย่างน่าพอใจ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับแผนรองรับด้วยการบริหารสต๊อกสินค้า รวมถึงชะลอการออกสินค้าใหม่ และหันกลับมาทำโปรโมชัน รวมถึงพัฒนาช่องทางการขายให้แข็งแกร่งขึ้น โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา TWZ ได้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการผนึกความร่วมมือกับร้านตู้มือถือในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าทั่วไป เพื่อยกระดับร้านค้าเหล่านี้ให้เป็นแฟรนไชส์ TWZ Shop ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ค้ารายย่อยได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น และมีความต้องการจับจ่ายสินค้าในร้านที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้น การแข่งขันในระดับร้านค้าจึงมีความรุนแรง ร้านที่เป็นเจ้าของคนเดียวก็จะแข่งขันกับร้านรูปแบบ Chain Store ได้ลำบากขึ้น ด้วยภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน ทาง TWZ จึงเล็งเห็นโอกาสนี้ และด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจการโทรคมนาคมมานานกว่า 25 ปี จึงสร้างโมเดลธุรกิจ TWZ Shop ในรูปแบบแฟรนไชส์ขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่ร้านที่เป็นเจ้าของคนเดียว หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจสื่อสาร ให้สามารถเปิดร้านที่มีภาพลักษณ์สามารถที่ดีน่าเชื่อถือ มีความพร้อมที่จะแข่งขันเรื่องสินค้า คุณภาพ และบริการได้ โดยเราจะสร้างร้านค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ตรงกลุ่มลูกค้า พร้อมกับมีบริการต่างๆ อย่างครบวงจร” นางปิยะนุช กล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถปรับโฉม และยกระดับร้านค้ารายย่อยไปแล้ว จำนวน 16 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งการขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ TWZ Shop นี้ นอกจากจะทำให้ร้านค้ารายย่อยมีความแข็งแกร่ง และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นแล้ว ในส่วนของ TWZ ยังสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ TWZ ยังรุกเข้าไปในตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยล่าสุด ได้เข้าไปแต่งตั้งตัวแทนขายในประเทศพม่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“นอกจากแผนการพัฒนาช่องทางขายในประเทศเพื่อรองรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในระยะต่อไปแล้ว เรายังมีแผนที่จะขยายไปสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งพื้นที่เป้าหมายหลังจากพม่า ก็จะเป็นลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นสอบถามถึงโอกาสในการขยายเข้าสู่ตลาด AEC และพร้อมให้การสนับสนุนแผนขยายการลงทุนของบริษัทฯ ด้วยการอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ครั้งที่ 4 (TWZ-W4) จำนวนไม่เกิน 2,980,138,401 หน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ และอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกจำนวนไม่เกิน 2,980,138,401 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิของ TWZ-W4” กรรมการผู้จัดการ TWZ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น