xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ประชุมร่วมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ วางหลักเกณฑ์กำกับดูแล คาดเสร็จไตรมาส 3 ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท. ประชุมร่วมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ วางหลักเกณฑ์กำกับดูแล คาดเสร็จไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนเสนอกระทรวงการคลัง ประกาศใช้ คาดไม่เกินเดือนมกราคมปีหน้า เชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะปรับตัวได้ และพร้อมให้ความร่วมมือ

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เอสเอ็มอีแบงก์ ได้เข้าหารือกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ซึ่งเป็นการหารือกันครั้งแรก หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธปท.ดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

โดยเบื้องต้น ธปท.ได้รับฟังความคิดเห็นก่อนกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ จะต้องมีหลักเกณฑ์การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ความเพียงพอของเงินกองทุน กระบวนการปล่อยสินเชื่อ การบริหารงานที่เหมาะสม การตรวจสอบข้อมูลที่โปร่งใส การแยกบัญชีระหว่างโครงการภาครัฐและพันธกิจของธนาคาร เพื่อส่งเสริมความมั่นคง ให้มีเสถียรภาพระยะยาว ซึ่งทาง ธปท. คาดว่าจะร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ของปีนี้ จากนั้นเสนอให้กระทรวงการคลังอนุมัติเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าไม่เกินเดือนมกราคม 2559

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าต้องมีการแก้มาตรา 120 พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เพื่อให้ ธปท.สามารถสั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มทุน หรือลดทุนได้ และกำหนดบทลงโทษผู้บริหารที่กระทำความผิดได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐจะมีเวลา 1-2 เดือน ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมของแต่ละสถาบันการเงิน โดยเชื่อว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะปรับตัวได้ และพร้อมให้ความร่วมมือ

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธปท.ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางที่ ธปท.จะกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ ธปท.จะเข้ามาดูแลเพราะเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ มีความเข้มเเข็งในการดูแลธนาคารพาณิชย์มาแล้ว จึงเชื่อว่าการกำกับดูแลจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งแตกต่างกัน มีพันธกิจไม่เหมือนกัน ดังนั้น กฎเกณฑ์ต่างๆ จึงจะต้องเหมาะสมต่อธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในแต่ละแห่ง ซึ่งทาง ธปท.จะต้องมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากธนาคารแต่ละแห่งต่อไป จึงจะออกแนวทางการกำกับที่เหมาะสมได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น