xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เร่งจัดแถวแบงก์รัฐ เน้นรอบคอบ คำนึงพันธกิจหลัก และไม่กระทบแบงก์พาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เร่งจัดระเบียบแบงก์รัฐตามนโยบายกระทรวงคลัง แต่ต้องรอบคอบ คำนึงพันธกิจหลัก และไม่กระทบแบงก์พาณิชย์ ชี้เรื่องสภาพคล่อง การกันสำรอง วิธีนับหนี้เสียเอ็นพีแอลอาจยืดหยุ่นมากกว่าแบงก์รัฐ แต่การลงทุนที่มีความเสี่ยง หรือแสวงหาผลกำไรต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) โดยวางแนวทางหลักๆ ในการกำกับดูแล รวมถึงความแตกต่างระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งพยายามดูแลไม่ให้กระทบแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และพันธกิจของสถาบันการเงินของรัฐ จึงไม่ได้มุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่าง ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กำกับดูแลเงินกองทุนและสภาพคล่องของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์บาเซิล 3 ก็ต้องพิจารณาว่าในกรณีสถาบันเงินเฉพาะกิจของรัฐจะต้องกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงควรอยู่ที่ระดับเท่าใด การกันสำรองหนี้เสีย วิธีการนับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมทั้งพิจารณาถึงธุรกรรมที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐทำไม่ได้ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เช่น การลงทุนในตราสารอนุพันธ์

ในส่วนของการนับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้าในกลุ่มเอ็นพีแอล จะนับเฉพาะลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนก็ไม่ได้ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องคำนึงฤดูกาลผลิต หรือโครงการที่กู้เงินไปทำด้วย เช่น กู้ไปปลูกผัก ปลูกข้าวก็ต้องมีระยะเวลาการได้ผลผลิตจากนี้ไปอีก 6 เดือน หรือ 12 เดือน และถ้าไม่ชำระในอีก 3 เดือนต่อมาถึงจะสามารถจัดให้กลุ่มลูกหนี้นั้นเป็นเอ็นพีแอลได้ ฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้ ธปท.ต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะการกำหนดแนวทางปฏิบัติต้องมีความชัดเจนก่อนที่จะหารือคลังต่อไป

“การดูแลเรื่องสภาพคล่อง การกันสำรองหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไม่จำเป็นต้องเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดก็ได้ โดยการกันสำรองหนี้อาจจะดูเพียงความเสี่ยงตามเกณฑ์ปกติ เช่น ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านตลาด และความเสี่ยงปฏิบัติการ ส่วนเงินกองทุนที่รองรับความเสี่ยงต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะรูปแบบการทำงาน ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะควรดูจากจุดไหน อย่างไรก็ตาม คลังยังเป็นผู้กำหนดนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐอยู่”


กำลังโหลดความคิดเห็น