xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ชี้ NPL เพิ่ม 2 หมื่นล. คาดมีสาเหตุจาก ศก.หดตัว-แบงก์แข่งดุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติ กำลังเกาะติดสถานการณ์เอ็นพีแอลในระบบ หลังเศรษฐกิจชะลอและธนาคารหันมาแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอีมากขึ้น แต่ไม่ห่วงเสถียรภาพสถาบันการเงิน มั่นใจแบงก์ระวังตัวดี และกันสำรองสูง ล่าสุด ตัวเลขเอ็นพีแอลในระบบไตรมาสแรกของปี 58 ยอดคงค้างเอ็นพีแอลเกือบ 3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.29% พบปริมาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทั้งไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันปีก่อน 2.1 หมื่นล้านบาท และ 1.81 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.กำลังติดตามสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งธนาคารพาณิชย์หันมาแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้แก่รายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท.เห็นการเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอล แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง และแม้เศรษฐกิจชะลอตัวจนห่วงจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์เอ็นพีแอลในอนาคต แต่กลับมองว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งระมัดระวังตัวอย่างมาก ขณะที่สำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองที่พึงกันถึง 190% จึงไม่ห่วงเสถียรภาพสถาบันการเงินในขณะนี้

“เรื่องนี้เป็นสองแง่สองง่ามเหมือนกัน โดยสิ่งที่เป็นห่วง ถ้าธนาคารพาณิชย์เข้มงวดเกินไปสินเชื่อไม่ออกสู่ระบบเศรษฐกิจ คนควรได้สินเชื่อก็อาจจะไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินจะติดตามดูและช่วยรักษาสมดุลเรื่องเหล่านี้ โดยถ้ามีการร้องเรียนเข้ามามากว่าว่าธนาคารเข้มเกินไปไม่ปล่อยสินเชื่อเลยก็ต้องมานั่งคุยกันกัน แต่เท่าที่เห็นยังไม่เรื่องลักษณะนี้ในปัจจุบัน” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าว

รายงานข่าวจาก ธปท. แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศข้อมูลเอ็นพีแอล ล่าสุด ไตรมาสแรกของปี 58 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ส่งผลให้ปริมาณเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน และการเติบโตของเอ็นพีแอลสุทธิที่มีการหักเงินกันสำรองแล้วมีมากกว่าเอ็นพีแอลที่ยังไม่ได้หักเงินกันสำรอง โดยยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 21,041 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัว 7.56% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 18,066 ล้านบาท หรือขยายตัว 6.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

จากปัจจุบัน สถาบันการเงินในระบบมียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 299,252 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอล 2.29% ต่อสินเชื่อรวม เทียบกับไตรมาส 4 ของปี 57 ที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 278,211 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอล 2.16% ต่อสินเชื่อรวม และช่วงไตรมาสแรกของปี 57 อยู่ที่ 281,186 ล้านบาท หรือเอ็นพีแอล 2.26% ต่อสินเชื่อรวม

ขณะเดียวกัน ในไตรมาสนี้ในระบบมีเอ็นพีแอลสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11,022 ล้านบาท หรือขยายตัว 8.01% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15,973 ล้านบาท หรือขยายตัว 12.04% จากปัจจุบันสถาบันการเงินในระบบที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลสุทธิทั้งสิ้น 148,656 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอลสุทธิ 1.15% เทียบกับไตรมาสก่อนที่มียอดคงค้าง 137,634 ล้านบาท สัดส่วนเอ็นพีแอล 1.08% ต่อสินเชื่อรวม และในไตรมาสแรกของปีก่อนมียอดคงค้างเอ็นพีแอล 132,683 ล้านบาท สัดส่วนเอ็นพีแอล 1.08% ซึ่งสัดส่วนเอ็นพีแอลในช่วงไตรมาสแรกกับไตรมาสสุดท้ายของปี 57 เท่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น