xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มต้นทุนการผลิตทองคำปี 2558

เผยแพร่:   โดย: ASTVผู้จัดการออนไลน์

ในการลงทุนทองคำ มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจไม่แพ้ค่าเงินดอลลาร์และการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบาการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC FED นั่นก็คือ ต้นทุนการผลิตทองคำซึ่งอาจคล้ายกับสิ่งที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ต้นทุนหน้าเหมือง” ที่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงที่มาของราคาหน้าเหมืองนั้นๆ บวกกับการขาดคำนิยามที่ชัดเจนถึงต้นทุนการผลิตที่พูดถึง ทำให้นักลงทุนที่ได้ยินอาจเข้าใจผิดและอาจส่งผลเสียต่อการลงทุนในทองคำได้เช่นกันครับ
ก่อนที่จะไปดูถึงต้นทุนการผลิตทองคำนั้นถูกแบ่งแยกย่อยเป็นหลายประเภท ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงนิยามรวมถึงสมการของต้นทุนแต่ละประเภทเพื่อให้เกิดความถูกต้องในการนำตัวเลขดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจลงทุน โดยต้นทุนที่รายงานดังกล่าวนำมาใช้มีอยู่สองประเภทนั่นคือ ต้นทุนแบบ Cash Cost และแบบ All in sustaining cost ซึ่งสามารถหาได้จากรายงานผลประกอบการของเหมืองทองคำต่างๆ

Cash Cost ต้นทุนที่สะท้อนถึงการผลิตทองคำโดยตรง

            ต้นทุนแบบ Cash Cost คือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทองคำโดยตรงบวกกับค่าสัมปทานเหมืองและหักด้วยต้นทุนการผลิตโลหะอื่นในกรณีที่เหมืองนั้นๆมีการผลิตโลหะอื่นนอกเหนือจากทองคำ (เรียกว่า By-product credit) หรือสามารถเขียนเป็นสมการง่ายๆได้ว่า “ต้นทุน Cash Cost = ต้นทุนการขุด , ต้นทุนการขนส่ง, การหลอมขึ้นรูป(ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทั้งหมด) + ต้นทุนสัมปทาน - ต้นทุนการผลิตโลหะอื่น(กรณีเหมืองนั้นมีการผลิตโลหะอื่นด้วย)(By-product credit)” โดยลักษณะเฉพาะของต้นทุนประเภทนี้คือเป็นต้นทุนที่สะท้อนถึงการผลิตโดยตรงเนื่องจากทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ทองคำมาหนึ่งทรอยออนซ์จะถูกนำมาคิดรวมอยู่ใน Cash Cost
            ขณะที่ข้อจำกัดของต้นทุน Cash Cost จะอยู่ที่ ต้นทุนดังกล่าวไม่ได้นำต้นทุนนอกเหมืองเข้ามารวมด้วย เช่น ต้นทุนสำนักงาน ต้นทุนการพัฒนาหรือต้นทุนธุรการ เป็นต้น

All in sustaining cost (AISC) ต้นทุนของทั้งบริษัท

            ต้นทุนแบบ AISC ถูกออกแบบมาเพื่อลบข้อจำกัดของต้นทุนแบบ Cash Cost ที่สะท้อนเพียงต้นทุนการผลิตแต่ไม่ได้รวมถึง โดยรวมต้นทุนอื่นๆเข้าไป เขียนเป็นสมการได้ดังนี้ “ต้นทุน All in sustaining cost  =  ต้นทุน Cash Cost + ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย + ต้นทุนสำนักงาน + ค่าใช้จ่ายในการสำรวจ + ต้นทุนธุรการ (G&A Expense)”

ปริมาณการผลิตของเหมืองทองคำขนาดใหญ่ 98 แห่ง คิดเป็น 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
            ต้นทุนที่ถูกนำมาหาแนวโน้มนั้นนำมาจากรายงานประจำปี 2557 ของ 9 เหมืองใหญ่(เรียงตามปริมาณการผลิต คือ Barrick, Newmont, Goldcorp, Kinross, Goldfields, Polyus, Anglogold, Yamana และ Agnico ซึ่งทั้ง 9 เหมืองใหญ่นี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 867.26 ตันในปี 2557 เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตทองคำทั้งหมดในปี 2556 จากรายงานของ World Gold Council ที่ระดับ 3,156.50 ตันจะคิดเป็นเกือบ 30% ของการผลิตทั้งหมด
แนวโน้ม Cash Cost มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากต้นทุนการขุดที่เพิ่มขึ้น
            ต้นทุนแบบ Cash Cost เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณการผลิตทั้ง 9 เหมืองเมื่อปี 2556 อยู่ที่ 672.47 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดนับตั้งแต่ปี 2550-2556 ขณะที่ต้นทุน Cash Cost ของทองคำในปีล่าสุด 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยต้นทุนแบบ Cash Cost เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณการผลิตทั้ง 9 เหมืองในปี 2557 อยู่ที่ 676.09 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
All in sustaining cost ปี 2557 อยู่ที่กรอบ 807-1,053 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
            All in sustaining cost ซึ่งเป็นเหมือนต้นทุนรวมทั้งหมดของเหมืองทองคำ ในปีที่แล้วจะอยู่ที่กรอบ 915-1,202 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับปีนี้ ถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้นทุน AISC ในปีนี้อยู่ที่กรอบ 807-1,053 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เหมืองที่มีต้นทุนการผลิตสูงสุดคือเหมือง Goldfields ที่ 1,053 ต่อทรอยออนซ์ ลดลงจากปีที่แล้วที่ 1,202 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ส่วนเหมืองที่มีต้นทุนต่ำที่สุดคือ Barrick อยู่ที่ 864 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ลดลงจากปีที่แล้วที่ 915 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ กรอบล่างของทองคำลดลงจาก 1,200 อยู่ที่ 1,000

เมื่อดูจากต้นทุน AISC ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะเห็นได้ว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการปรับตัวของเหมืองทองคำ โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับราคาทองคำที่ปรับตัว ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงแรงจูงใจในการผลิตทองคำที่ลดลงและเพิ่มโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากต้นทุนดังกล่าวอาจทำได้เพียงแค่พยุงให้ราคามีการฟื้นตัวในระยะสั้นแต่หากภาพรวมของปัจจัยพื้นฐานยังคงเป็นเชิงลบ ทางเหมืองอาจมีการลดต้นทุนการผลิตอีกครั้ง
กมลธัญ  พรไพศาลวิจิต
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ และผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
 
กำลังโหลดความคิดเห็น