ซีบีอาร์อี ระบุกรุงเทพฯ รั้งอันดับ 8 ทำเลยอดนิยมเปิดร้านค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิก คาดว่าในปี 58 พื้นที่ค้าปลีกใหม่เข้าสู่ตลาดอีกราว 1 ล้าน ตร.ม. สมทบกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เติบโตเป็นจำนวนมาก แบรนด์สินค้าดังเปิดตัวรับกำลังซื้อ
จากรายงานฉบับล่าสุดของซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เรื่อง “Retail Hotspots in Asia Pacific 2014” พบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ในลำดับที่ 8 ของทำเลยอดนิยมในการเปิดร้านค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2557 โดยมีร้านค้าเปิดใหม่ในปีที่แล้วทั้งสิ้น 19 แบรนด์ด้วยกัน
ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2557 พบว่ามีร้านค้าปลีกใหม่เข้ามามากถึง 464 แบรนด์ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 23% กรุงโตเกียวมีร้านค้าปลีกแบรนด์ใหม่เปิดมากที่สุด (63 แบรนด์) ตามมาด้วยสิงคโปร์ (58 แบรนด์) กรุงไทเป (49 แบรนด์) ฮ่องกง (45 แบรนด์) และกรุงปักกิ่ง (34 แบรนด์)
ในปี 2557 กลุ่มสินค้าหรูมีการเปิดร้านค้าปลีกแบรนด์ใหม่ในสัดส่วนที่มากที่สุดที่ 22.6% ทว่ากลุ่มธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีอัตราเพิ่มจำนวนแบรนด์ที่สูงที่สุดที่ 22.4% เปรียบเทียบกับปี 2556 ที่เติบโต 14.8% ร้านค้าปลีกจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเปิดสาขาในเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 24% ตามมาด้วยร้านค้าปลีกจากอิตาลีและอังกฤษที่สัดส่วน 11% จากฝรั่งเศส 10.5% ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ที่สัดส่วน 6.9% เป็นแหล่งที่มาของร้านค้าปลีกที่มากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
นายเจมส์ พิทชอน หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในทำเลทองของการพัฒนาโครงการค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2558 นี้จะมีพื้นที่ค้าปลีกใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดอีกราว 1 ล้านตารางเมตร จากการเปิดให้บริการของห้างค้าปลีกแห่งใหม่ในปีนี้ อาทิ เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัล เวสต์เกต และเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังกรุงเทพฯ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน ทำให้ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าจะมีร้านค้าปลีกแบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2557 โดยกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหารคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์ใหม่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากที่สุด ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นระดับกลางยังคงขยายสาขาอย่างเนื่อง
นายโจนาธาน ซู หัวหน้าแผนกวิจัยตลาดผู้เช่า ซีบีอาร์อี เอเชีย กล่าวว่า ร้านค้าปลีกข้ามชาติต้องการที่จะเข้ามาในตลาดเอเชียแปซิฟิกนานแล้ว โดยเริ่มจากตลาดที่มีมาอย่างยาวนานอย่างญี่ปุ่นหรือฮ่องกงก่อน เพื่อเป็นฐานในการขยายไปสู่ตลาดอื่นในภูมิภาค ในปี 2557 กรุงโตเกียวเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกสำหรับร้านค้าปลีกข้ามชาติที่เริ่มเข้ามาเปิดตลาด เพราะการบริโภคภายในประเทศมีการเติบโตมากขึ้นอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การคาดการณ์ถึงงานโอลิมปิกในกรุงโตเกียวปี 2563 และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ความต้องการในกรุงโตเกียวกระจุกตัวอยู่แต่ในย่านการค้าหลักๆ
ในฐานะที่สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นตลาดที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากร้านค้าปลีกข้ามชาติและยังคงได้รับความสนใจจากร้านค้าปลีกใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกในฮ่องกงจำเป็นต้องปรับตัวรับกับความต้องการสินค้าหรูที่ชะลอตัวลงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ร้านค้าปลีกยังคงต้องเผชิญกับปัญหาด้านแรงงานหากต้องการขยายสาขาไปยังสิงคโปร์.