ThaiBMA เผยทิศทางการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปี 58 ได้รับความสนใจมากขึ้น ในกลุ่มบริษัทขนาดกลาง และเล็ก แต่มูลค่าการออกและเสนอขายแต่ละครั้งไม่สูงนัก ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 520,000-540,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 550,000 ล้านบาท
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ทิศทางการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปี 58 ได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มบริษัทขนาดกลาง และเล็ก แต่มูลค่าการออก และเสนอขายแต่ละครั้งไม่สูงนัก ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนอยู่ที่ประมาณ 520,000-540,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 550,000 ล้านบาท
“ภาคเอกชนมีความสนใจออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทที่มีแผนขยายการลงทุนเร่งออกหุ้นกู้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีจำนวนบริษัทที่สนใจมากขึ้น แต่มูลค่าการออกหุ้นกู้กลับมีจำนวนลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากบริษัทขนาดกลางและเล็กยังออกหุ้นกู้ในจำนวนที่ค่อนข้างน้อย” นายธาดา กล่าว
ทั้งนี้ ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้น จำนวน 102 บริษัท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 66 บริษัท โดยเป็นผู้ออกรายใหม่ (Newcomer) ถึง 11 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้น 121,618 ล้านบาท จากปีก่อนมีเพียง 5 บริษัท แต่มีมูลค่าการออกสูงถึง 232,352 ล้านบาท
ส่วนการออกตราสารหนี้ระยะยาวมีทั้งสิ้น จำนวน 30 บริษัท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 21 บริษัท และเป็น Newcomer 5 บริษัท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมี จำนวน 2 บริษัท ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 42,938 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 55,218 ล้านบาท
นายธาดา กล่าวว่า ปีนี้ ThaiBMA กำหนดทิศทางในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเสนอแนวทางในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ต่อองค์กรต่างๆ ได้แก่ 1.ThaiBMA ได้เข้าพบกรมสรรพากร เพื่อให้ยกเว้น Capital Gain Tax เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้น โดยยกเว้นให้แก่บุคคลธรรมดา เฉพาะ Real capital gain และการเก็บภาษีบน Accrued Interest รวมถึงภาษีธุรกิจเฉพาะของบริษัทประกันชีวิต ที่มีการเสียภาษีดังกล่าวประมาณ 2.5% เมื่อเทียบธนาคารจะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 1% ซึ่งจะเห็นว่ามีต้นทุนทางการเงินที่แฝงอยู่มากกว่า
2.เรื่อง Dollar Bond การอนุญาตให้สามารถนำหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศที่เสนอขายต่อนักลงทุนต่างประเทศ กลับมาเสนอขายต่อนักลงทุนไทยกลุ่ม II&HNW ในประเทศได้ โดยให้นำหุ้นกู้ที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศนั้นมาขึ้นทะเบียนในประเทศด้วย เพื่อให้นักลงทุนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน สามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศทัดเทียมกับที่เสนอขายต่อนักลงทุนต่างชาติในต่างประเทศ
3.เสนอให้มีการอนุญาตการออกหุ้นกู้ภายใต้ Medium-Term Note (MTN) Program โดยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโดยยกเลิก Shelf Filing ลดระยะเวลาการอนุญาตเพื่อให้การเสนอขายทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ lssuer ยังมีประเด็นเรื่องภาระเอกสารที่ต้องนำส่งทั้งชุด จึงเสนอต่อ ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาอนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนสามารถออก และเสนอขายหุ้นกู้ในลักษณะเดียวกับ MTN โดยไม่ต้องนำเสนอข้อมูลใหม่ทั้งชุด
4.เสนอทางเลือกใหม่ในการระดมทุน ในรูปแบบ Infrastructure Bond เพื่อให้เป็นการเลือกไม่ให้บริษัทเป็นหนี้สาธารณะ ลดต้นทุนการกู้ลง โดยได้นำโครงสร้าง Infrastructure Bond เสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
5.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ (Baht Bond) โดยให้บริษัทไทยที่จัดตั้ง หรือร่วมทุนในต่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์ของคนไทย (Thai Interest) สามารถออกตราสารหนี้ในไทยได้โดยใช้เกณฑ์การออกและเสนอขายหุ้นกู้เช่นเดียวกับบริษัทไทยที่ตั้งในประเทศโดยให้ออกหุ้นกู้ใช้เกณฑ์ ก.ล.ต. ไม่ติด Quota
6.การส่งเสริมผู้ออกตราสารหนี้รายใหม่ โดยกระตุ้นภาคเอกชนใช้ตราสารหนี้เป็นช่องทางการระดมทุน ผ่านช่องทางการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้แก่บริษัทจดทะเบียน ร่วมกับ ก.ล.ต. จัดโครงการหุ้นกู้น้องใหม่ เป็นต้น
7.จัดทำ Advertising Board เพื่อสร้างเครือข่ายการติดต่อซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรองให้แก่กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยได้ประสานงานกับสมาคม บล.ในการพัฒนา prototype
8.ThaiBMA เตรียมการพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลรายบริษัทของผู้ออกตราสารหนี้ จากเดิมที่เป็นการจัดเก็บข้อมูลเป็นรายรุ่น โดยประกอบด้วย มูลค่าตราสารหนี้คงค้างของแต่ละบริษัท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) งบการเงินที่สะดวกในการเรียกดูใช้งาน Financial Covenant Financial Ratio