กนง.สร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ให้ตลาด มีมติปรับลด ดบ.นโยบาย 0.25% ลงเหลือ 1.75% ต่อปี เพื่อช่วยทำให้บรรยากาศการจับจ่าย และการลงทุนดีขึ้น แม้ว่าอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ ดบ.ธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างน้อย ในภาวะกลไกขับเคลื่อน ศก.ตัวอื่นทำงานได้ไม่เต็มที่ ด้านนายแบงก์มองการปรับลด ดบ.นโยบาย 0.25% ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าที่จะช่วยหนุนส่งออกได้
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง
ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการ 4 คนจึงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและพยุงความเชื่อมั่นภาคเอกชน
ขณะที่คณะกรรมการอีก 3 คนเห็นว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็นและมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรที่จะใช้นโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้างก่อนที่เครื่องมือดอกเบี้ยจะไม่เกิดประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดของอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินยังต้องติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และยังคงต้องติดตามแรงขับเคลื่อนด้านการคลังโดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยทาง กนง. คาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยทำให้บรรยากาศการจับจ่ายและการลงทุนดีขึ้นแม้ว่าอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างน้อยในภาวะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่นทำงานได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง.ได้มีการหารือถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รวมไปถึงการส่งออก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ซึ่ง กนง.จะแถลงปรับลดจีดีพีใหม่ในรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 20 มีนาคมนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 การส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 1
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี เกิดจากภาครัฐต้องการให้ภาคธุรกิจและประชาชน มีการลงทุนและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งตนเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ร้อยละ 4 ดีกว่าปีที่ผ่านมา
นายโฆสิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะทางใด จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะการไหลเข้าออกของเงินทุน อัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลให้เงินบาทช่วยให้ไทยแข่งขันได้
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า กนง.ปรับลดอกเบี้ยนโยบายลง เพียงช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะภาคครัวเรือน ยังมีปัญหาหนี้สินสูงคิดเป็นร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่รายได้ประชาชนในต่างจังหวัดยังไม่ดีขึ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ ส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนยังไม่ดีขึ้น
ด้านการปล่อยสินเชื่อ การลดดอกเบี้ยนโยบาย ยังเพียงแค่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เท่านั้น แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อตามเดิม
นายกอบศักดิ์ ระบุว่า การลดดอกเบี้ยนโยบดายไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ภาคเอกชนจะลงทุนเพียงรอความชัดเจนโครงการลงทุนภาครัฐเท่านั้น หากภาครัฐสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐได้ ก็จะเกิดกระแสการลงทุนของภาคเอกชนตามมาในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าจากความไม่สมดุลเกิดขึ้นจากราคาน้ำมันถูกลง ไทยใช้เงินบาทซื้อน้อยลง ทำให้เงินบาทแข็งค่า ทั้งนี้ แต่ละปีไทยใช้เงินบาทมากถึงประมาณ 700,000 ล้านบาท ซื้อน้ำมัน แต่ผลจากการที่ราคาน้ำมันลดลงประเทศไทยใช้เงินบาทน้อยลง