“ตลท.” เล็งคุมเข้มขายหุ้นเพิ่มทุน PP สั่งติด “ไซเรนต์ พีเรียด” เป็นระยะเวลา 1 ปี หากราคาขายต่ำกว่าตลาด 10% ยอมรับ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการระดมทุนของ บจ.เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากเมื่อปี 57 มีการระดมทุนแบบ PP สูงมาก เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า โดยมีบริษัทที่ระดมทุน PP จำนวน 35 บริษัท มูลค่าระดมทุนมีสัดส่วนเท่ากับ 36% ของมูลค่าระดมทุนทั้งหมด ชี้ข้อดีสามารถระดมทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น มีขั้นต้นการเสนอขายและค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่การระดมทุนในลักษณะนี้ จะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมในราคาหลักทรัพย์ และ Dilution Effect
รายงานข่าวแจ้งว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์กำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้น(Silent Period)กับผู้ที่ได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ที่มีส่วนลดเกินกว่า 10% ของราคาตลาด โดยห้ามนำหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์แปลงสภาพทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรรออกขายเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นของบริษัทเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยหลังจากวันที่หุ้นทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 6 เดือน ผู้ลงทุนดังกล่าวสามารถขายหุ้นได้ในจำนวน 25% ของจำนวนหุ้นหรือหลักทรัพย์แปลงสภาพที่ถูกสั่งห้ามขาย แต่ผ่อนผันการ Silent Period สำหรับ Strategic Partners บางประเภท เช่น เจ้าหนี้ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการและแปลงหนี้เป็นทุน และผู้ลงทุนสถาบันตามนิยามของ ก.ล.ต. ซึ่งไม่รวม private fund
นอกจากนี้ Silent Period จะไม่ใช้กับกรณีนำหุ้นที่เหลือจากการขาย RO มาจัดสรรให้ PP ในราคาเดียวกับ RO โดยบริษัท ต้องมีกระบวนการให้ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถให้สิทธิเกินกว่าสัดส่วนของตนแล้ว สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนจะได้รับประโยชน์จากการระดมทุนแบบ PP และผู้ร่วมทุนใหม่ โดยผู้ร่วมทุนใหม่ซึ่งถือเป็น Strategic Partners จะอยู่กับบริษัทเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นเดิม เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการระดมทุนของ บจ.เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ว่าในปี 2557 บจ.มีการระดมทุนแบบ PP สูงมากเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า โดยมีบริษัทที่ระดมทุน PP จำนวน 35 บริษัท มูลค่าระดมทุนมีสัดส่วนเท่ากับ 36% ของมูลค่าระดมทุนทั้งหมด
ซึ่งการระดมทุน PP มีข้อดีสามารถระดมทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น มีขั้นต้นการเสนอขายและค่าใช้จ่ายไม่มาก อย่างไรก็ตาม การระดมทุนในลักษณะนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมในราคาหลักทรัพย์ และ Dilution Effect โดยจากข้อมูลของ บจ.ที่ระดมทุนด้วย PP จำนวน 35 บริษัท พบว่า มี 23 บริษัท ที่ราคาเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาตลาดก่อนวันที่เสนอขาย และในจำนวน 23 บริษัทดังกล่าว มีบริษัทที่เพิ่มทุนแบบ PP ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเกิน 25% ทั้งสิ้น 13 บริษัท
นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด และดูแลสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยอมรับว่า ตลท. จะปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ ซึ่งหลังจากนั้นจะประเมินความคิดเห็น และเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบต่อไป หลังจากนั้น ส่งให้ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เกณฑ์ Silent Period ไม่เคยใช้กับผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้น PP มาก่อน ซึ่งสาเหตุที่มีการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามีการออก PP มากขึ้น และมีการกำหนดราคาขายหุ้น PP ต่ำกว่าตลาดค่อนข้างมาก พร้อมย้ำว่า เกณฑ์ดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องรอประมวลผลความเห็นเพื่อเสนอต่อ บอร์ด ตลท. และหลังจากนั้นเสนอให้บอร์ด ก.ล.ต.เห็นชอบก่อน จึงจะประกาศใช้ได้