xs
xsm
sm
md
lg

กุนซือ TDRI มั่นใจไทยไม่เกิดภาวะเงินฝืด นายแบงก์ชี้ปัจจัยกดดัน กนง.หั่น ดบ.ครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กุนซือ TDRI ย้ำไทยไม่เกิดภาวะเงินฝืด หนุนรัฐเร่งปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านรายได้ เชื่อภาพคล่องจากคิวอีในหลายประเทศล้นเข้ามาถึงไทย แต่อาจเจอกระแสข่าวต่างๆ เข้ามากระทบกระทบต่อความเชื่อมั่น อาจส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกไปได้อย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ขณะที่แบงก์กรุงศรีฯ คาดที่ประชุม กนง.อาจปรับลด ดบ.นโยบาย ครึ่งหลังปีนี้ โดยมีแรงกดดันหลักจาก ศก.ที่ยังไม่ฟื้นตัว และการปรับขึ้น ดบ.นโยบายของ ธ.กลางสหรัฐฯ

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เผชิญต่อภาวะเงินฝืด แม้ว่าในเดือน ม.ค.58 อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ 0.41% เพราะมองว่าการเกิดภาวะเงินฝืดมักมาจากด้านอุปสงค์ที่ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แต่การที่อัตราเงินเฟ้อติดลบครั้งนี้เกิดจากอุปทานบางตัว โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่การปรับตัวลดลงมามากของราคาน้ำมัน โดยส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าถูกลง อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการที่ราคาน้ำมันตกต่ำก็เกิดผลกระทบต่อกลุ่มลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อพลังงานในระยะนี้

สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาปีนี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้นคาดว่า จะยังขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้การจับจ่ายภาคเกษตรลดลง สะท้อนไปยังกลุ่มภาคเกษตรชะลอตัว

นายวิรไท กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะมีการปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมรดกและทรัพย์สินต่างๆ นั้น โดยส่วนตัวเห็นด้วย เนื่องจากเป็นการสร้างฐานภาษีใหม่ และก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะกำลังเข้าสู่ประเทศประชากรผู้สูงอายุในสัดส่วนาค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งหารายได้ใหม่เข้ามาเพื่อดูแลประชาชน

“การจะจัดเก็บภาษีมรดกทรัพย์สินนั้นถือเป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างไรก็ดี จะจัดเก็บหรือไม่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปภาษีนั้นจะก่อให้เกิดการหาแหล่งรายได้ของรัฐบาลใหม่ๆ เข้ามาแทนได้” นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ส่งผลให้สภาพคล่องล้นระบบ โดยมีเงินไหลเข้ามายังประเทศอื่นๆ ทั้งภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะช่วงที่มีกระแสข่าวต่างๆ เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่น อาจส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกไปได้อย่างรวดเร็วได้เช่นกัน

ด้าน นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ลูกค้าบุคคล และบริหารผลิตภัณฑ์เงินฝาก การลงทุน ประกันภัย ธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารมองว่า ในปีนี้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลังหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะหากการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวดี

ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ย คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่ง ยังจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น