JLL ระบุ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในปีที่ผ่านมา จะกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ แต่ไม่รุนแรงมากเท่ากับที่หลายๆ ฝ่ายคาดไว้ โดยยอดการเข้าใช้บริการห้องพักของทั้งปี มีอัตราเฉลี่ยที่ระดับสูงกว่า 50% ส่วนในปี 2558 นี้ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เชื่อว่าภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีปัจจัยความท้าท้ายใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยก็ตาม รวมถึงหากนักท่องเที่ยวในปีนี้เติบโต 5% เมื่อเทียบกับปี 57 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 15.5 ล้านคน จะสามารถรองรับห้องพักที่เพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก
จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) ระบุถึงสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ โดยระบุว่า ตัวเลขสถิติจากกรมการท่องเที่ยว แสดงให้เห็นว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15.5 ล้านคน ลดลง 11.3% จากปี 2556 ที่มีจำนวน 17.5 ล้านคน หลักๆ เนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ส่งผลให้อัตราการเข้าใช้บริการห้องพักโรงแรมลดลงจากอัตราเฉลี่ย 74.3% ในปี 2556 เหลือ 57.8% ในปี 2557 (ตัวเลขจาก STR Global)
นายแอนดรูว์ แลงดอน รองประธานบริหารหน่วยธุรกิจบริการด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอัตราการเข้าใช้บริการห้องพักโรงแรมในปีที่ผ่านมา นับเป็นการลดลงที่มีนัยสำคัญ แต่ยังไม่มากเท่ากับที่มีการคาดการณ์กันไว้ จากการที่กรุงเทพฯ ต้องประสบต่อการชุมนุมทางการเมืองที่กินเวลายาวนานต่อเนื่องมาจากปลายปี 2556 ตามมาด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม”
“การที่กรุงเทพฯ มีสถานภาพที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ประกอบกับความวุ่นวายทางการเมืองที่สงบลงในช่วงครึ่งหลังของปี ช่วยพยุงให้ภาคธุรกิจโรงแรมกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา ไม่ถึงกับ “ล่ม” นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา มีโรงแรมสร้างเสร็จใหม่เพิ่มไม่มาก ซึ่งช่วยให้อัตราการเข้าใช้บริการห้องพักไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป”
รายงานจากเจแอลแอล ระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีโรงแรมสร้างเสร็จใหม่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ คิดเป็นจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 1,100 ห้อง ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี สำหรับจำนวนโรงแรมที่สร้างเสร็จเพิ่มระหว่างปี 2553 ถึง 2557 ซึ่งมีจำนวน 2,700 ห้องต่อปี ส่วนในปี 2559-2561 จะมีโรงแรมสร้างเสร็จเพิ่มรวมอีกทั้งสิ้นประมาณ 3,700 ห้อง
แม้จะมีปัจจัยบางประการที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ แต่ นายแลงดอนเชื่อว่า ปัจจัยพื้นฐานของภาคธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ จะยังคงแข็งแกร่งมากพอที่รับมือได้
“ในแง่ของอุปสงค์ หรือความต้องการ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อรัสเซีย และแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสมากนักในยูโรโซน นับเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย และเงินยูโรที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท จะมีผลทำให้การเดินทางเข้าเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ซึ่งปกติเป็น 1 ใน 5 กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ มากที่สุด อย่างไรก็ดี การที่สถานการณ์ทางการเมืองที่สงบลง เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆ จากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และสามารถชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย และยูโรโซนที่อาจลดลง”
“ในส่วนของอุปทาน หรือซัปพลายในปีนี้ จะมีโรงแรมสร้างเสร็จใหม่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นห้องพักรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ห้อง แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในปีนี้ ทั้งนี้ หากจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากปีที่แล้ว ก็จะสามารถรองรับจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก ในขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 5% ในปีนี้” นายแลงดอนกล่าว
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวในปีนี้ จากสถานการณ์ทางเมืองในประเทศไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การที่สายการบินต่างๆ มีการเปิดเที่ยวบินเชื่อมกรุงเทพฯ กับเมืองต่างๆ ทั้งในเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเอื้อให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้มากขึ้น
“หากไม่มีปัจจัยลบสำคัญอื่นๆ ที่อยู่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น เชื่อว่า ภาคธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งในแง่ของอัตราการเข้าใช้บริการห้องพัก และรายได้ในปีนี้” นายแลงดอน กล่าว