“ทีดีอาร์ไอ” คาด ศก.ไทยปีนี้อาจฟื้นตัวได้ยาก ระบุเครื่องยนต์หลัก ทั้งการส่งออกและการบริโภคในประเทศยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้น ขณะที่ รบ.ไม่กล้าออกมาตรการกระตุ้น ศก.มากนัก เพราะกังวลปัญหาหนี้สาธารณะท่วม “เวิลด์แบงก์” คาดการณ์ “จีดีพี” ของไทยปีนี้เติบโตได้ 3.5% เชื่อ ศก.โลกดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงจากแนวโน้ม ศก.แต่ละประเทศที่แตกต่าง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันมาก ส่งผลให้ตลาดเงินโลกยังมีความผันผวน และอาจเกิดภาวะเงินฝืด พร้อมประเมินราคาน้ำมันยังต่ำลงต่อเนื่อง
กลุ่มธนาคารโลก และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2015 นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนายั่งยืน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะปัจจัยในประเทศยังกดดัน แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมามาก แต่มีผลต่อการบริโภคในประเทศน้อย เนื่องจากไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประกอบกับหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลสูง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ภาคหลักของไทย คือเกษตรกรยังไม่มีกำลังซื้อ และมีปัญหาในการชำระหนี้
ขณะที่รัฐบาลยังไม่กล้าออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจจะสูงขึ้น ทำใด้เพียงกระตุ้นการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหวังว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นไปตามแผน แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามากกว่า
ดังนั้น เศรษฐกิจในปีนี้ยังคาดหวังได้ยาก ประกอบกับการส่งออกของไทยที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักลดลง มีปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตสินค้าที่ล้าสมัยไม่เป็นที่นิยมของต่างประเทศ ทั้งนี้ หากจะแก้ไขปัญหาจะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นการลงทุนดังกล่าว
ด้าน นายอาญาน โคส ผู้อำนวยการกลุ่มแนวโน้มพัฒนาการเศรษฐกิจโลก กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดการณ์จีดีพีเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะเติบโตร้อยละ 3.5 สูงกว่าปีก่อนที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.5
ขณะเดียวกัน ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3 สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 ขณะที่ปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกส่วนปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยแม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แตกต่าง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันมาก
นายอาญาน อธิบายว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเศรษฐกิจขยายตัวดีจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แตกต่างจากยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนจีนเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความระมัดระวังมากขึ้น
“ความแตกต่างด้านเศรษฐกิจนี้จะส่งผลให้ตลาดเงินยังมีความผันผวนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว และอาจเกิดภาวะเงินฝืด”
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตามมอง คือ การค้าโลกที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจากประเทศผู้ค้าน้ำมัน และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ธนาคารโลกคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงถึงร้อยละ 40 ส่งผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ควรใช้โอกาสที่น้ำมันลดลงปฏิรูป และลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ส่งเสริมสวัสดิการสังคมต่างๆ แทน
ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่ถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลงทำให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้แย่ลง ควรจะกระจายแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจทั้งในระยะกลาง และระยะยาวจากเดิมที่เคยพึ่งพารายได้จากน้ำมันมากเกินไป