xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก เค.ซีฯ ทิ้งหุ้น 58% รับเละ 1.3 พันล. เผยราคาหุ้นวิ่งชนซิลลิ่ง 4 วันซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชาย งามอัจฉริยะกุล” เอ็มดี-ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เค.ซี พร็อพเพอร์ตี้ พร้อมพวกเทขายทิ้งกว่า 514 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 58.76% ในราคาหุ้นละ 2.61 บาท มูลค่ารวม 1,341 ล้านบาท ให้แก่ผู้บริหาร บมจ.เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า (AJP) ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมายเอสพีห้ามการซื้อขายหลังผู้บริหารบริษัทยังไม่แจงรายละเอียดเพิ่ม ขณะที่ราคาหุ้นวิ่งชนซิลลิ่ง 4 วันซ้อน ก่อนจะโดนเอสพีที่ 5.20 บาท เพียงสัปดาห์เดียวเพิ่มขึ้นจากปลายปี 57 กว่า 3.65 บาท หรือคิดเป็น 235.48%

จากกระแสการเข้าเทกโอเวอร์กิจการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย นับตั้งแต่กลุ่มเสี่ยเจริญ ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ยูนิ เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV กับ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD หรือแม้แต่กลุ่มตระกูลภิรมย์ภักดี ก็เข้ามาถือหุ้นโดยการสวอปหุ้น กับบริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ RASA จนล่าสุด กลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ได้แสดงเจตนาจำนงเข้าไปเทกโอเวอร์หุ้นบริษัท ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TPROP เพื่อหวังเข้าถือหุ้นบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ทางอ้อม

ล่าสุด นายภัทรภพ อิทธิสัญญากร ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัท เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า จำกัด (มหาชน) หรือ AJP ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC จำนวน 514,155,500 หุ้น คิดเป็น 58.76% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัท จากนายชาย งามอัจฉริยะกุล กรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 ความว่า “บริษัทฯ ได้รับแจ้งจาก นายชาย งามอัจฉริยะกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ว่า นายชาย และผู้ถือหุ้นรายอื่นซึ่งถือหุ้นในบริษัทฯ จำนวน 514,155,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 58.76 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ลงวันที่ 10 มกราคม 2558 กับนายภัทรภพ อิทธิสัญญากร “ผู้ซื้อ” ซึ่งเป็นนักลงทุนซึ่งมิได้มีความสัมพันธ์ หรือความเกี่ยวข้องกับทั้ง นายชาย และบริษัทฯ แต่อย่างใด ในราคาหุ้นละ 2.61 บาท คิดเป็นมูลค่าการเข้าทำรายการรวมทั้งสิ้น 1,341,945,855 บาท

โดยผู้ซื้อจะเข้าทำการซื้อหุ้นจากผู้ขายภายใน 60 วัน นับจากลงนามในสัญญาซื้อขาย หรือภายในวันที่ 9 มี.ค. และผู้ซื้อจะดำเนินการให้การซื้อขายหุ้นนี้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้รับแจ้งจากคู่สัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่ ตลท.เห็นว่า กรณีข้างต้นถือเป็นสารสนเทศสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานบริษัท และการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ KC แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่รับการชี้แจงในรายละเอียดที่สำคัญอื่นๆ อย่างครบถ้วนชัดเจน เช่น (1) เงื่อนไขบังคับก่อน และหรือเงื่อนไขสำคัญอื่นๆ ในการเข้าทำรายการซื้อขาย (2) ลักษณะธุรกิจ และโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทในอนาคต (3) รายละเอียดของผู้ซื้อ (4) รายละเอียดการทำคำเสนอซื้อ เป็นต้น

ตลท.จึงพิจารณาหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ KC เป็นการชั่วคราวเมื่อช่วงเช้าจนกว่าจะได้รับการชี้แจงที่ครบถ้วน และชัดเจนจากบริษัท

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น KC วันที่ 9 ม.ค. วิ่งชนซิลลิ่ง 30% มาอยู่ที่ 5.20 บาท เพิ่มขึ้น 1.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 359.73 ล้านบาท เมื่อเวลา 15.57 น. โดยเปิดตลาดที่ 4.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 5.20 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 4.38 บาท โดยราคาวันที่ 8 ม.ค. หุ้น KC ปิดที่ 4.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.92 บาท(+29.87%) เมื่อ 7 ม.ค.หุ้น KC ปิดที่ 3.08 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท(+29.41%) และเมื่อ 6 ม.ค.หุ้น KC ปิดที่ 2.38 บาท เพิ่มขึ้น 0.54 บาท(+29.35%)

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับราคาหุ้น KC เมื่อปลายปี 57 (30 ธ.ค.) ราคาหุ้นปิดที่ 1.55 บาท กับล่าสุด 9 ม.ค.58 ราคาหุ้นปิดที่ 5.20 บาท หรือเพียงสัปดาห์เดียวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.65 บาท หรือคิดเป็น 235.48%

ก่อนหน้านี้ บล.ฟิลลิป ประกาศหุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ตลท. ได้กำหนดให้ บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ หรือ KC โดน Trading Alert ในระดับ 1 ที่จะต้องเป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายใช้เกณฑ์ Cash Balance สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อหลักทรัพย์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.58 ถึง 27 ม.ค.58

ระดับ 1 Cash Balance หมายความว่า สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อหลักทรัพย์ ระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย หมายความว่า ห้ามการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการกำหนดวงเงินการซื้อขายหลักทรัพย์ และระดับ 3 ห้าม Net settlement หมายความว่า ห้ามการหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ หรือ KC ยังคงวิ่งเข้าหาซิลลิ่งด้วยวอลุ่มเทรดที่เข้ามาอย่างคึกคัก ไม่สนใจแม้ว่าจะเข้าสู่ Trading Alert ในระดับ 1 ที่จะต้องซื้อ/ขายหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์ Cash Balance ซึ่งเท่าที่ดูการซื้อขายแล้วเห็นว่า มีเม็ดเงินสดเข้ามาเทรดหุ้น KC อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะของการซื้อเก็บเข้าพอร์ต ไม่ได้เป็นลักษณะของการซื้อๆ ขายๆ เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น

อีกทั้งการที่จะต้องซื้อด้วยเงินสดนี้ทำให้เห็นว่าเงินที่เข้ามาลงทุนใน KC มีมาก ทำให้เชื่อว่า กระแสข่าวสะพัดในห้องค้าหลักทรัพย์เรื่องการซื้อกิจการของ KC คงจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงของ KC ยังไม่ได้มีออกมาแต่อย่างใด ดังนั้น นักลงทุนควรจะระมัดระวังการลงทุนเป็นอย่างดีด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ Trading Alert มีหลักทรัพย์ที่ลองของไปแล้ว 6 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM 2.บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC 3.บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC 4.บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC 5.บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RWI บริษัทบริหาร และ 6.พัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ GENCO
กำลังโหลดความคิดเห็น