ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ เสริมความยืดหยุ่นการดำเนินนโยบายการเงิน แม้จะมีช่วงกว้างกว่าประเทศอื่น เชื่อจะเป็นกลไกหลักช่วยฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีมะแม
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่อิงกับเงินเฟ้อทั่วไปผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ด้วยการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 2.5 และมีกรอบการเคลื่อนไหวขึ้นลง (+/-) ไม่เกินร้อยละ 1.5 ซึ่งสอดคล้องต่อธนาคารกลางหลายประเทศในโลก แม้ตะกร้าเงินเฟ้อของไทยจะประกอบด้วยสินค้าในหมวดอาหาร และพลังงานด้วยสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น แต่การแกว่งตัวของเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของทางการ ซึ่งเป็นความเหมาะสมของกรอบเป้าหมายดังกล่าวในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของไทย แม้จะมีช่วงที่กว้างกว่าหลายประเทศ และกว้างกว่าเดิมเล็กน้อย แต่เหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และเอื้อต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากกรอบเงินเฟ้อใหม่มีช่วงการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นมาที่ร้อยละ 3.0 เทียบกับร้อยละ 2.5 ภายใต้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานเดิม (ที่กำหนดกรอบไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0) ซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น และช่วยให้ทางการไทยมีพื้นที่เชิงนโยบายเพียงพอที่จะรับมือต่อความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้ เช่น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีที่อยู่ในกรอบเป้าหมายใหม่คงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต้องพะวงต่อแรงกดดันด้านราคา เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่า ราคาพลังงานโลกยังมีทิศทางผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศต่อระดับเงินเฟ้อ และส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยกรอบคาดการณ์ประมาณร้อยละ 1.0-2.2 หรือมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 1.5 เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของ ธปท. ที่ร้อยละ 1.0-4.0