ธ.กรุงศรีอยุธยา ยืนยันแบงก์มีการตรวจสอบประวัติ “ทรงกลด ศรีประสงค์” อดีตผู้จัดการสาขาฯ ไม่พบประวัติอาชญากรรม ก่อนรับเป็นพนักงาน ด้านบอร์ด คตง. สั่งเร่งตรวจสอบเบื่องลึกยักยอก 1.6 พันล้าน เทคโนฯ ลาดกระบัง ลั่นเดินหน้าเอาผิดเพิ่มหลายกระทง พร้อมขยายผลไปยังแบงก์อื่นด้วย ยอมรับเป็นกรณีการยักยอกที่สูงมาก และเป็นที่จับตาของประชาชน ย้ำต้องไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงคดีที่ นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ตกเป็น 1 ใน 2 ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มูลค่า 1,600 ล้านบาท นั้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขอชี้แจงว่า นโยบายและกระบวนการสรรหาและว่าจ้างบุคลากรของธนาคารกำหนดให้มีการตรวจสอบประวัติกับสถานที่ทำงานเดิม รวมถึงประวัติอาชญากรรมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งในกรณีของอดีตพนักงานดังกล่าวการตรวจไม่พบมีประวัติเสียหาย หรือความผิดปกติอันใด
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนที่จะบรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งเป็นมาตรฐานการจ้างงานของทุกองค์กร รวมถึงอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขอยืนยันว่า การทำธุรกรรมการเงินของธนาคารมีการรายงานตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาโดยตลอด
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สั่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เร่งสรุปรายละเอียดผลการยักยอกเงิน 1,600 ล้านบาท สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้บริหารลาดกระบัง และเจ้าหน้าที่ รวมถึงธนาคารที่เบิกจ่ายเงินอาจขยายผลไปยังธนาคารอื่นนอกจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพราะถือเป็นกรณีการยักยอกเงินสูงมาก และเป็นที่จับตาของประชาชน โดยพร้อมให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสรุปสำนวน เพื่อเอาผิดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
นายสุทธิพล กล่าวว่า ต้องกลับไปตรวจสอบข้อมูลหลักฐานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2555 แม้จะเป็นเอกสารหลักฐานที่เคยรับรองว่าถูกต้องแล้ว เนื่องจากมีการปลอมแปลงเป็นเอกสารจริงจากทางแบงก์ เพื่อปูพรมตรวจสอบใหม่ทั้งหมดว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องด้วย การทุจริตดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีความผิดทางอาญา
สำหรับในส่วนของ สตง.นั้น จะมีการเอาผิดทางงบประมาณวินัยการเงินการคลัง โดยทาง สตง. จะสรุปสำนวนเอาผิดเสนอต่อคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง เพื่อพิจารณาบทลงโทษ เช่น หักเงินเดือนผู้กระทำความผิดเป็นเวลา 1 ปี และหาทางนำเงินชดใช้คืนบางส่วน นอกจากนี้ พร้อมเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อแก้ไขกฎหมายป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้อีก