อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง “รมว.คลัง” คนปัจจุบัน เตือนระวังเสียประโยชน์จากการที่ ปตท. ขายก๊าซราคาต่ำกว่าตลาดโลกให้บริษัทปิโตรเคมี หากกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เข้าไปสนับสนุน อาจจะเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไปได้ เนื่องจากตามหลักการทั่วไปของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างบริษัทกับบุคคลอื่นนั้น จะต้องกระทำกันในราคาตลาด และในลักษณะที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกเรื่องเกี่ยวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 2 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 โดยมีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง ผลประโยชน์ที่กระทรวงการคลังอาจจะเสียไปในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ตามที่ข้าพเจ้าในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือวันที่ 22 กันยายน 2557 แจ้งท่านเกี่ยวกับกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาผลประโยชน์ที่กระทรวงการคลังอาจจะเสียไปในบริษัทดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
เรื่องเดิม
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2540 ก่อนหน้าที่จะมีการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2540 ให้กำหนดราคาที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะขายก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน และ ก๊าซ LPG ซึ่งเป็นวัตถถุดิบให้แก่บริษัทปิโตรเคมี โดยใช้หลักการที่เรียกว่า Net back Basis
หลักการดังกล่าวคำนวณกลับจากราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทปิโตรเคมี หักด้วยต้นทุนและผลตอบแทนของบริษัทปิโตรเคมี แทนที่จะกำหนดให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต้องขายก๊าซให้บริษัทปิโตรเคมี ตามราคาก๊าซในตลาดโลกของก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน และก๊าซ LPG ซึ่งราคาสูตร Net back Basis ดังกล่าว น่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าถ้าหากกรณีบริษัทปิโตรเคมีจะต้องซื้อก๊าซเองโดยตรงจากตลาดโลก
การดำเนินการดังกล่าวอาจจะมีเหตุจำเป็นในขณะนั้น คือ อาจจะเหมาะสมเฉพาะสำหรับช่วงเวลาที่การดำเนินงานธุรกิจพลังงานของชาติอยู่ภายใต้การดำเนินการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย อาจจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่บริษัทปิโตรเคมีระดับหนึ่ง
ปัญหาต่อผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง
ต่อมา ในปี 2544 ได้มีการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่ถึงแม้จะได้มีการแปรรูปไปแล้วก็ตาม ก็ปรากฏว่า น่าจะมีการทำสัญญาระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัทปิโตรเคมี เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี ที่เปิดให้บริษัทปิโตรเคมีสามารถซื้อก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน และก๊าซ LPG จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก ซึ่งน่าจะสืบเนื่องจากการใช้สูตรในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังอาจมีกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขายก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน และก๊าซ LPG ให้แก่บริษัทปิโตรเคมีในเครือในราคาที่ต่ำกว่าการขายให้แก่บริษัทปิโตรเคมีนอกเครือด้วย
หากมีการทำสัญญาดังกล่าว น่าจะมีผลทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสียประโยชน์ที่ควรได้ เนื่องจากตามหลักการทั่วไปของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างบริษัทกับบุคคลอื่นนั้น จะต้องกระทำกันในราคาตลาด และในลักษณะที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย (arm’s length) ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 89/12 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ว่าธุรกรรมที่กรรมการไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นนั้น คือ
(1) ธุรกรรมที่เป็นข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนจะพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยอำนาจต่อรองทางการค้าที่ปราศจากอิทธิพลในการที่ตนมีสถานะเป็นกรรมการ ประกอบกับมาตรา 89/7 ก็บัญญัติว่า ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหาร ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และมาตรา 89/10 ก็บัญญัติว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กรรมการและผู้บริหารต้อง (1) กระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
ดังนั้น หากมีสัญญาที่ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ขายก๊าซให้แก่บริษัทปิโตรเคมีในราคาตลาดโลก แต่ต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก สัญญาดังกล่าวก็น่าจะทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสียประโยชน์ที่ควรได้ และทำให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสียประโยชน์ และน่าจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไปด้วย และกรณีถ้าหากกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปสนับสนุนการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อการดังกล่าว ก็อาจจะเข้าข่ายที่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไปได้
นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทปิโตรเคมีที่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว อาจจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธุรกรรมดังกล่าวที่อาจจะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษนี้ จึงอาจจะไม่สอดคล้องต่อหลักธรรมาภิบาลด้วย
ความเห็น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กรณีหากมีสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัทปิโตรเคมีในลักษณะดังกล่าว อาจจะทำให้กระทรวงการคลัง และหรือผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไปเสียประโยชน์ที่พึงจะได้
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากข้าพเจ้ามิได้รับทราบ หรือสังเกตข้อมูลนี้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ข้าพเจ้าจึงขอเสนอแนะให้ท่านทำการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไข หากมีข้อเสียเปรียบของกระทรวงการคลัง และหรือหากมีการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป