xs
xsm
sm
md
lg

เผยธุรกิจรถ-ค้าปลีกขายส่งก่อหนี้พุ่ง ทั้งจากรายใหม่ และที่เคยปรับโครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนี้เสียในระบบยังเพิ่มต่อเนื่อง ลูกหนี้รายใหม่เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจขายปลีกขายส่ง ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 5.78 พันล้านบาท เช่นเดียวกับลูกหนี้กลุ่มรีเอ็นทรี อันดับหนึ่งจากธุรกิจการผลิต 5.88 พันล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้เกิดจากเหตุผลอื่นๆ สูงสุดเป็นธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 3.81 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีการเจรจาหนี้สถาบันการเงินน้อยสุดในระบบ ทำให้หนี้เสียค้างระบบต่อไป

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานข้อมูลหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แบ่งตามประเภทธุรกิจล่าสุดไตรมาส 3 ของปี 57 พบว่า แม้สถาบันการเงินพยายามเจรจาหนี้กับลูกหนี้ เพื่อให้หนี้สินลดลง แต่การเกิดขึ้นของหนี้ยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าทั้งจากลูกหนี้รายใหม่ ลูกหนี้เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้ง (รีเอ็นทรี) และลูกหนี้เกิดจากเหตุผลอื่นๆ ทำให้ปริมาณเอ็นพีแอลในระบบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างชาติได้ส่งข้อมูลสาเหตุการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเอ็นพีแอลให้แก่ ธปท.ในระหว่างไตรมาส (flow) ปรากฏว่า ไตรมาส 3 ภาพรวมการลดลงเอ็นพีแอลในระบบทั้งสิ้น 5.41 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอลมีทั้งสิ้น 6.45 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 1.03 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.65% ในไตรมาส 3 จากยอดคงค้างเอ็นพีแอลในระบบ 2.94 แสนล้านบาท หรือเอ็นพีแอล 2.34% ของสินเชื่อรวม จาก 2.28% ไตรมาสก่อน

เมื่อเทียบไตรมาส 3 กับไตรมาส 2 ของปีนี้ สาเหตุการเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอลเกิดจากลูกหนี้ในทุกประเภททั้งลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้น 4.46 พันล้านบาท ลูกหนี้กลุ่มรีเอ็นทรีเพิ่มขึ้น 7.06 พันล้านบาท และลูกหนี้จากเหตุผลอื่น เช่น การให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ผลกระทบของค่าเงินที่เพิ่มขึ้น หรือผลการรับโอนลูกหนี้ที่รับโอนหนี้มาจากสถาบันการเงินอื่น เป็นต้น เพิ่มขึ้น 2.85 พันล้านบาท จากปัจจุบันส่งข้อมูลเป็นลูกหนี้รายใหม่ รีเอ็นทรี และเหตุผลอื่น 3.99 หมื่นล้านบาท 1.71 หมื่นล้านบาท และ 7.51 พันล้านบาท ตามลำดับ

ลูกหนี้รายใหม่เกิดขึ้นหลายธุรกิจ มากที่สุดธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 5.78 พันล้านบาท ซึ่งยานยนต์และจักรยานยนต์เกี่ยวข้องการขาย บำรุงรักษา ขายชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ เช่นเดียวกับลูกหนี้กลุ่มรีเอ็นทรีเกิดขึ้นในหลายธุรกิจ อันดับหนึ่ง คือ ธุรกิจการผลิต 5.88 พันล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้เกิดจากเหตุผลอื่นๆ สูงสุดเป็นธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 3.81 พันล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจซื้อหรือขายอสังหาริมทัพย์ เพื่ออยู่อาศัย ให้เช่า หรือได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา

สำหรับสาเหตุการลดลงเอ็นพีแอล ซึ่งสถาบันการเงินกับลูกหนี้จะเจรจาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง พบว่า ส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีหลากหลาย เช่น กรณีไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โอนเป็นหนี้ปกติ หรือการรับชำระหนี้ การตัดหนี้สูญของหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้อง และการขายหนี้ เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.59 พันล้านบาท ส่วนวิธีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 426 ล้านบาท จากปัจจุบันสถาบันการเงินส่งข้อมูลลูกหนี้เลือกใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้มาทั้งหมด 9.61 พันล้านบาท และเลือกใช้วิธีอื่นๆ มีทั้งหมด 4.45 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจภาคการผลิตเลือกวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้หนี้ลดลงมากที่สุด 1.62 พันล้านบาท ส่วนวิธีอื่นๆ ธุรกิจกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์หนี้ลดลงมากที่สุด 5.13 พันล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจการผลิต 1.95 พันล้านบาท ตามมาด้วยธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 1.22 พันล้านบาท ในทางกลับกัน ลูกหนี้ในธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีการเจรจากับสถาบันการเงินทำได้น้อยสุดในระบบทั้งวิธีการปรับโครงสร้างหนี้และวิธีอื่นๆ 1.20 พันล้านบาท และ 2.59 พันล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดหนี้ยังคงอยู่ในระบบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น