xs
xsm
sm
md
lg

“โฆสิต” ชี้ ดบ. 2% เอื้อ ศก.โต-เตือนนโยบายรัฐอย่าผิดซ้ำเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กแบงก์กรุงเทพ ระบุอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เป็นอันดับที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่แล้ว เตือนรัฐอย่าทำผิดซ้ำซาก ใช้หนุนบริโภคเกินตัวก่อปัญหา-โตไม่ยั่งยืน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้าที่ 3-4% โดยมีแรงผลักดันหลักๆ มาจากการบริโภค-ลงทุนภาครัฐ และฐานของปีนี้ที่ต่ำ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดันจากนโยบายเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากนัก

“เศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นหรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็จะดีขึ้นกว่าปีนี้แน่ จากฐานปีนี้ที่ต่ำ การขับเคลื่อนก็จะมาจากภาครัฐเป็นหลัก เพราะคงไม่เหลือส่วนไหนแล้ว และที่ระดับ 3-4% เป็นไปตามศักยภาพของไทยหรือไม่ ตอนนี้ไทยมีศักยภาพโตได้เท่านี้อยู่ หากจะโตได้มากขึ้น ก็คงต้องมีการเพิ่มศักยภาพทางอื่นด้วย”

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนแม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังในระดับสูง และที่สำคัญคือรัฐไม่ควรดำเนินนโยบายผิดซ้ำ โดยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคที่มากเกินไป หรือนโยบายที่ผิดพลาดอย่างที่ผ่านมา อาทิ รถคันแรก บ้านหลังแรก หรือรับจำนำข้าว เป็นต้น เพราะทำให้หนี้สิน และเป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน ส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมาถึงปัจจุบัน โดยแนวทางแก้ปัญหาคือ ควรใช้นโยบายด้านการลงทุนของรัฐเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นประโยชน์มากกว่าแม้ต้องใช้เวลาบ้าง

นายโฆสิต กล่าวอีกว่า การขยายการลงทุนของภาครัฐ จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนได้บ้าง แม้ว่าราคาพืชผลทางด้านการเกษตรจะลดลง หนี้สินเพิ่ม และรายได้คงเดิม แต่ใช้เงินเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับการบริหารจัดการของภาครัฐว่า กลุ่มใดมีปัญหามากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะภาคเกษตร และควรใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน เพราะไม่อยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำซ้อน เนื่องจากในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนใช้นโยบายบริโภคกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วประสบความสำเร็จ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาร์พี คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% ถือว่าเป็นระดับที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับเงินเฟ้อ เพราะถ้าปรับลดลงไปมากกว่านี้ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มยุโรปนั้น มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเพิ่มความรู้เฉพาะด้านให้มีความแข็งแกร่ง และรับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น