ผู้ว่าการ ธปท. แนะแก้หนี้นอกระบบด้วยการสร้างรายได้ พร้อมยึดหลักรู้จักแบ่งรายได้ ไม่ต้องแบกหนี้ โดยยอมรับว่า ธปท. ยังจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 83% ของจีดีพี แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจะชะลอลง ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเริ่มลดลง แต่เชื่อว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตามภาวะ ศก. ที่เริ่มฟื้นตัว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงกรณีนางสังเวียน รักษาเพ็ชร ชาวอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ใช้น้ำมันราดและจุดไฟเผาตัวเองกลางศูนย์บริการประชาชนชั่วคราว ภายในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หลังมาร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนจากหนี้สิน โดยระบุว่า เป็นปัญหาค่อนข้างหนัก และสะท้อนว่าประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย จึงไปกู้หนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ให้ประชาชน พยายามขยายศักยภาพในการสร้างโอกาสทำมาหากิน และประชาชนต้องรู้จักการแบ่งรายได้ เก็บออมให้สอดคล้องกับรายจ่าย ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันในการให้ความรู้กับประชาชน โดยให้ยึดหลัก “รู้จักแบ่งรายได้ ก็ไม่ต้องแบกหนี้”
“การที่ประชาชนไปกู้หนี้นอกระบบเป็นปัญหาปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุที่รายได้ ไม่ใช่การกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาจ่ายเงินกู้ดอกเบี้ยสูง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและเอสเอ็มอีนั้นยังมีปัญหา โดยในปี 2556 ภาคครัวเรือนเข้าถึงแหล่งเงินไม่ถึงร้อยละ 40 ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีเพียงร้อยละ 41 จาก 2.7 ล้านราย เข้าถึงแหล่งทุนได้”
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การสร้างรายได้ก็ต้องไม่บิดเบือนกลไกลตลาด หรือสร้างภาพลวงตา เช่นการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด จนเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากนอกภาคเกษตร เข้าสู่ภาคเกษตรกว่า 700,000 คน พอราคาข้าวตกต่ำก็ไม่มีรายได้เพียงพอ สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือ โดยมาตรการเร่งด่วนคือการแจกเงินชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือใช้วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นความเดือดร้อนที่ต้องช่วยเหลือ เพราะข้าวนาปีออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อย่ามาเถียงกันว่าการแจกเงินชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ เป็นประชานิยมหรือไม่ เห็นว่าเป็นการแจกตรงที่ไม่กระทบต่อกลไกลส่วนอื่น
ผู้ว่า ธปท. ยอมรับว่า ยังจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงร้อยละ 83 ของจีดีพี แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจะชะลอลง ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนยังต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเริ่มลดลง แต่เชื่อว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้มีความระมัดระวังมากขึ้น
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ธปท. ก็ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้าที่ ร้อยละ 4.8 และโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะเติบโตได้ถึงร้อยละ 6 เป็นไปได้ยาก เพราะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน