ฤดูรายงานผลประกอบการในทุกๆ งวดที่ผ่านมา สิ่งที่เรามักจะเห็นกันเป็นประจำก็คือ การเข้าซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรผลประกอบการ พองบรายงานออกมาเรียบร้อย ก็จะเกิดแรงขายทำกำไรทันที ซึ่งเราจะเรียกพฤติกรรมแบบนั้นว่า Sell on Fact
หลังจากสิ้นไตรมาส กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่นักวิเคราะห์สายธนาคารฯและการเงินทั่วฟ้าเมืองไทยเข้าขอเข้ามูลกับบรรดาเหล่าธนาคารฯ เพื่อทำการประมาณการกำไร (Earning Preview) ซึ่งในช่วงของการทำ Preview นั้น จะเป็นช่วงที่มักเกิดกระแสการเก็งกำไรในกลุ่มธนาคารฯ เราจึงได้เห็นราคาหุ้นของธนาคารฯ ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังสิ้นไตรมาส ซึ่งจะปรับเพิ่มขึ้นมาก หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มกำไรที่บรรดานักวิเคราะห์ทำ Preview ออกมา หากครั้งไหนธนาคารใดที่มีแนวโน้มกำไรจะออกมาดีมากๆ ราคาหุ้นก็เตรียมวิ่งกระฉูด แต่ถ้าธนาคารไหนมีแนวโน้มกำไรอ่อนลง หรือหดตัว ราคาหุ้นก็เตรียมถูกขายจมดินทันที
สิ่งที่จะตามมาหลังการเก็งกำไรในช่วง Preview ดังกล่าวก็คือ เมื่อธนาคารฯ มีการประกาศผลประกอบการจริงออกมา (โดยปกติแล้วจะประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หลังสิ้นไตรมาส) หากผลประกอบการไม่ออกมาดีไปกว่าที่นักวิเคราห์คาดมากๆ ราคาหุ้นก็จะถูกกระแสการขายทำกำไรเข้ากดดัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลประกอบการมักไม่ค่อยหนีไปจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หรือที่ทำ preview ไว้ก่อนหน้า เพราะฉะนั้น เราจึงได้เห็นการทำ Sell on Fact เป็นประจำเกือบทุกครั้งที่ธนาคารรายงานงบออกมา
จากรูปที่แนบมา จะพบว่า สถิติการเคลื่อนไหวของกลุ่มธนาคารฯ ก่อนและหลังประกาศงบ 1-2 สัปดาห์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้างวดใดราคาหุ้นมีการปรับเพิ่มขึ้นก่อนการรายงงานงบ 1-2 สัปดาห์ (ช่วง Preview Earning) หลังจากรายงานงบเรียบร้อยราคาหุ้นก็จะปรับลงในอีก 1-2 สัปดาห์ถัดมา ในทางตรงกันข้าม หากงวดใดที่ราคาหุ้นมีการปรับลดลงก่อนที่จะประกาศผลประกอบการ ราคาหุ้นก็มักจะพลิกกลับไปปรับเพิ่มขึ้นหลังการประกาศงบเสร็จสิ้นทุกครั้ง ซึ่งพฤติกรรมราคาลักษณะนี้จะขอเรียกว่า Buy on Fact คือ ซื้อสวนหลังงบออก
สำหรับฤดูรายงานงบงวดไตรมาส 3 ปี 2557 นี้ กลุ่มธนาคารฯ มีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม กว่า 4.3% เรียกได้ว่าเป็นการขายที่หนักหน่วงก่อนงบออกที่ชัดเจนมาก ซึ่งการขายลงมาเยอะแบบนี้หากอิงตามสถิติ โอกาสที่จะเกิด Sell on Fact เมื่อมีการประกาศงบจึงน้อยมาก เพราะราคาหุ้นมันลงมาก่อนล่วงหน้าแล้ว จะให้ลงอีกก็ดูจะโหดเกินไป สิ่งที่ควรจะเกิดจึงน่าจะเป็นการทำ Buy on Fact กลับมากกว่า
ปฎิกิริยาการ Buy on Fact เริ่มเห็นได้ชัด หลังการรายงานงบของ TISCO (TISCO ประกาศกำไรสุทธิ 3Q57 เท่ากับ 1.09 พันล้านบาท โดยเติบโตถึง 9.8% qoq แต่ยังหดตัวกว่า 3.8% yoy) และ TMB (ประกาศกำไรสุทธิงวด 3Q57 เท่ากับ 2.39 พันล้านบาท โดยลดลง 7.3% qoq แต่ยังเพิ่มขึ้นถึง 27.6% yoy) ราคาหุ้นทั้งของ TISCO และ TMB ปรับเพิ่มขึ้นหลังรายงานผลประกอบการเสร็จ โดย TISCO และ TMB ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค.57 กว่า 4.14% และ 1.34% ตามลำดับ
TISCO และ TMB โชว์ให้เห็นแล้วว่า Buy on Fact เป็นยังไง ที่น่าติดตามก็คือ บรรดาธนาคารฯ ที่เหลือ ที่กำลังจะทยอยประกาศงบออกมาจะมี Buy on Fact ให้เห็นกันหรือไม่
ไล่ไปตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.57
KKP คาดว่าจะมีกำไร 669 ล้านบาท โต 11% qoq แต่หดตัวแรง 32% yoy
วันที่ 17 ต.ค.57
BAY คาดว่าจะมีกำไร 3,518 ล้านบาท โต 2% qoq แต่หดตัว 7% yoy
BBL คาดว่าจะมีกำไร 9,208 ล้านบาท โต 2% qoq และโต 3% yoy
KBANK คาดว่าจะมีกำไร 11,781 ล้านบาท โต 10% yoy
KTB คาดว่าจะมีกำไร 9,287 ล้านบาท โต 22% qoq และโต 4% yoy
LHBANK คาดว่าจะมีกำไร 285 ล้านบาท หดตัวจากไตรมาสที่แล้ว 7% แต่ยังโตขึ้น 72% yoy
SCB คาดว่าจะมีกำไร 13,245 ล้านบาท หดตัวกว่า 10% qoq (จากผลของการไม่มีรายการพิเศษ) แต่โตขึ้น 4% yoy
TCAP คาดกำไร 1,334 ล้านบาท โต 8% qoq แต่หดตัว 20% yoy