xs
xsm
sm
md
lg

ธ.โลก หั่นคาดการณ์ “จีดีพี” ปี 57 ลงเหลือ 1.5% พร้อมจับตาความสามารถของ รบ.ในการขับเคลื่อนกลไก ศก. ปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลก หั่นคาดการณ์ “จีดีพี” ของไทยปีนี้ ลงเหลือแค่ 1.5% จากเดิมที่คาดไว้ 3% ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดโตได้ 3.0% พร้อมจับตาความสามารถของ รบ.ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 58 ซึ่งต้องเบิกจ่ายให้ได้สูงกว่า 80% การปฎิรูปภาษี นโยบายด้านพลังงาน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งระยะยาวต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วย

นายอูริช ซาเกา (ulrich-zachau ) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 1.5 จากเดิมคาดการณ์ว่า โตร้อยละ 3 โดยครึ่งปีหลังจีดีพีจะฟื้นตัวโตร้อยละ 3 มาจากการส่งออกที่คาดว่าโตร้อยละ 0.7 เทียบกับครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 0.6 ขณะที่อุปสงค์ในประเทศคาดว่าโตร้อยละ 1 การบริโภคของเอกชนและการลงทุนปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นอย่างช้าๆ โตร้อยละ 1.5

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปี 2558 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากเดิมที่คาดว่า โตร้อยละ 4.5 โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก โตร้อยละ 6.4 และจากการลงทุนภาครัฐ โตร้อยละ 10 การลงทุนภาคเอกชนโตร้อยละ 6 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 หลังจากนำเข้าถดถอยปีนี้ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2558 เกินดุลน้อยลงเหลือ 12,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3 ของจีดีพี เทียบกับ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐปีนี้

ทั้งนี้ คาดหวังการท่องเที่ยวจะดีขึ้น หลังการเมืองมีเสถียรภาพช่วยสนับสนุนจีดีพีปี 2558 โตร้อยละ 10-11 ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูงยังกดดันและประชาชนยังไม่มั่นใจเรื่องรายได้ในอนาคต

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาท จะมีเม็ดเงินใหม่ประมาณ ร้อยละ 1.4 ของจีดีพี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินงบประมาณ โดยต้องจับตาความสามารถของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 เบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 80 การปฏิรูปภาษี นโยบายด้านพลังงาน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งระยะยาวต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น