xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ฟินันซ่าเปิดขายกองบอนด์ 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ฟินันซ่าเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ FAM FIPR3M4 ชูผลตอบแทน 2.70% มองตลาดหุ้นอาจรับความผันผวนจากปัญหาตะวันออกกลางและยูเครน

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด กล่าวว่า บลจ.ฟินันซ่าประเมินหลังจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย 11 ด้านต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยระบุว่าจะมีการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่การแก้ปัญหาที่เร่งด่วนไปจนถึงการวางรากฐานต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาษีทั้งระบบโดยการจัดเก็บภาษีมรดกจะทำให้นักลงทุนหันไปหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่จดทะเบียนหรือย้ายไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งการยกเลิกสิทธิทางภาษีของผู้ซื้อ LTF คาดว่าจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ลดลงอย่างมาก ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมายังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ ปัญหาความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และในแถบตะวันออกกลาง ทำให้การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำและอัตราผลตอบแทนที่ดีจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการใช้เป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น อีกทั้งหลังจากการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. 57 ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แถลงการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่งหลัง QE สิ้นสุดลง แต่ตลาดยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นในปี 58 ในสถานการณ์เช่นนี้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถรองรับความเสี่ยงจากการเสียโอกาสการลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้

ทั้งนี้ บลจ.ฟินันซ่าจึงออกเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน4 (FAM FIPR3M4) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.70% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 23-30 กันยายน 57 ซึ่งเป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund

โดยกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน4 (FAM FIPR3M4) จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น