xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจจะไม่ขอเงินเพิ่มทุน มั่นใจปี 58 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจจะไม่ขอเงินเพิ่มทุน เพราะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง จะสูงเป็นตัวเลข 2 หลักได้ ภายในปี 58 ขณะที่เอ็นพีแอลเริ่มนิ่ง และสามารถเดินหน้าแผนฟื้นฟูฯ ได้ต่อเนื่อง

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า การเพิ่มทุนตามแผนเดิมที่คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ชุดก่อนได้ขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังไว้ 2,000 ล้านบาท แต่ด้วยการที่พนักงานธนาคารร่วมแรงร่วมใจทำงานเต็มที่ช่วยให้ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7 และส่วนใหญ่เป็นชั้นที่ 1 หากการแก้ไขหนี้เสียทำได้ต่อเนื่องมั่นใจว่า บีไอเอสจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2 หลักในปี 2558 เมื่อทำได้ระดับดังกล่าวก็จะไม่ขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังให้เปลืองภาษีประชาชน

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มียอดรวม 35,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของสินเชื่อรวม 88,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ที่เลิกกิจการแล้ววงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะดำเนินการขายหลักประกัน ที่เหลืออีก 15,000 ล้านบาท ยังประกอบกิจการอยู่ เอ็นพีแอลของธนาคารรายย่อยมีกว่า 20,000 ราย เป็นรายที่มียอดหนี้ไม่มากหลักหมื่นบาท จึงเกินกำลังเจ้าหน้าที่ของธนาคารจะดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ได้ทั้งหมด จึงมีแนวคิดที่จะเสนอคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ ให้พิจารณาว่าจ้างเอกชนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญมาติดตามหนี้ให้ต่อไป ซึ่งเป็นรูปแบบที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ดำเนินการเช่นกัน

ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีแบงก์นั้น กระทรวงการคลังอนุมัติแผนปล่อยสินเชื่อปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หรือปล่อยสินเชื่อมากกว่า 2.5-3 เท่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2558 ที่คาดว่าจะเติบโตในระดับร้อยละ 4-5 หรือคิดเป็นสินเชื่อที่จะต้องปล่อยให้ได้ 30,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้จะเป็นสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 12,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้รวมถึง 9 เมนูสินเชื่อคืนความสุข SMEs ทั่วประเทศด้วย ซึ่งมีวงเงินรวม 19,000 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีเริ่มต้น ขยาย หรือปรับปรุงกิจการ โดยเริ่มเปิดตัวตั้งแต่วันนี้ (9 ก.ย.) ถึง 31 ธันวาคม 2558

ส่วนการปล่อยสินเชื่อเดือนสิงหาคม 2557 ว่าทรงตัว เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่มีคณะกรรมการ กระบวนการพิจารณาอนุมัติ กระบวนการประเมินหลักประกันใช้เวลานานถึง 3 เดือน ปัจจุบันลดลงเหลือ 14 วัน เพื่อให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นเอสเอ็มอีแบงก์ ก็จะพิจารณาปรับปรุงกระบวนการให้ลดลงเหลือ 10 วันเท่านั้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบสถานะทรัพย์สินและหนี้สิน มั่นใจว่าจะเสร็จกลาง เดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะว่าจ้างผู้สอบบัญชีภายนอกมาช่วย ซึ่งจะเป็น 1 ใน 24 ราย ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นางสาลินี กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้กับลูกค้ารายย่อยว่า ไม่ควรสูงเกินไป แม้มีความเสี่ยงสูงกว่ารายใหญ่ ดังนั้น ธนาคารจึงมีนโยบายจะไม่นำค่าใช้จ่ายอื่นมารวม เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าบริการการจำนองหลักประกัน สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบัน ลูกค้าที่กู้เงินเกิน 15 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ร้อยละ 7.25 ต่อปี ส่วนวงเงินกู้ต่ำกว่านี้คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ร้อยละ 9.5 ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์มีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าธนาคารทั่วไป เพราะไม่ได้รับฝากเงินจากรายย่อยที่เป็นแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น