“สศค.” แจงผลงานแบงก์รัฐครึ่งแรกปี 57 สินเชื่อแตะ 3.28 ล้านล้านบาท เงินฝาก 3.86 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้เน่าลดเหลือ 1.51 แสนล้านบาท ระบุ “ออมสิน” แชมป์ปล่อยกู้ ขณะที่ “คลัง” เตรียมดันมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว หวังช่วยกระตุ้น ศก. คาดบังคับใช้ตั้งแต่ ก.ย.57-ธ.ค.58 ประเมิน 2 ปี ภาคท่องเที่ยวฟื้นเข้าสู่ภาวะปกติ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานผลดำเนินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) 6 แห่ง ในช่วง 6 เดือน ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2557 มีสินทรัพย์รวม 4.67 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 4.46 ล้านล้านบาท สินเชื่อคงค้าง 3.28 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 3.26 ล้านล้านบาท เงินฝากคงค้าง 3.86 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 3.7 ล้านล้านบาท กำไรรวม 1.38 หมื่นล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวม 1.51 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบสิ้นปีก่อนที่มี 1.9 แสนล้านบาท โดยเอ็นพีแอลส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคล 7.34 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัย 4.7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเกษตรกรรม 2.43 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน มียอดปล่อยสินเชื่อ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 1.56 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2556 ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.53 ล้านล้านบาท ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.21 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 1.16 ล้านล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีสินเชื่อคงค้าง 7.62 แสนล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 7.36 แสนล้านบาท
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ส่งมาตรการลดหย่อนภาษีที่เกิดจากรายจ่ายจากการท่องเที่ยวภายในประเทศมาให้พิจารณาแล้ว และคาดว่าจะออกเป็นประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือน ก.ย.นี้ทันที เพราะก่อนหน้านี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวนั้น ในหลักการจะให้สิทธิได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยในส่วนของบุคคลธรรมดาจะให้นำรายจ่ายจากการเข้าพักโรงแรมที่เสียภาษีการค้าถูกต้อง หรือค่าใช้จ่ายจากการซื้อแพกเกจทัวร์จากบริษัทจัดพาเที่ยว มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อปี ด้านนิติบุคคล ให้นำรายจ่ายจากค่าโรงแรมที่เกิดจากการจัดสัมมนาอบรมพนักงานผู้บริหารของบริษัท มาบันทึกเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าจากที่จ่ายจริง เพื่อมาหักลดหย่อนการเสียภาษีประจำปี
ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวดังกล่าว จะให้มีผลทันทีหลังจากประกาศกรมสรรพากรมีผลบังคับใช้ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ ก.ย.2557 จนถึง 31 ธ.ค.2558 ทำให้สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมาได้ โดยเฉพาะโรงแรมที่พักต่างๆ ที่มีผู้เข้าพักลดลงมาก รวมถึงคาดว่ามาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวจะทำให้การท่องเที่ยวของไทยในช่วง 2 ปีนี้ กลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
“สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวนี้ ทางกรมสรรพากร ประเมินว่าทำให้การเก็บภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลลดลงเล็กน้อย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการภาษีในภาพรวมของประเทศ เพราะกรมสรรพากร จะเก็บภาษีจากมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้น จากกิจกรรมท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการลดหย่อนภาษี” นายรังสรรค์ กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ คสช.ได้ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่าในการเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในไทยมากขึ้น