บอร์ดการบินไทย ชงแผนฟื้นฟูกิจการ 3 ระยะ ตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมยื่นเสนอ สคร.และ คสช. อนุมัติ ตั้งเป้าไตรมาส 4 สร้างรายได้ขั้นต่ำ 3 พันล้านบาท จากเส้นทางหลักที่มีนักท่องเที่ยวนิยมบินมาก เผยไม้เด็ด โบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ ฝูงบินใหม่เป็นแม่เหล็กเสริมทัพธุรกิจ
ร.ท.สุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย หรือ THAI กว่าวว่า ขณะนี้ บริษัทอยู่ในช่วงของการเตรียมเขียนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานหลายปี โดยได้รับการอนุมัติจากบอร์ดบริหารแล้ว โดยในแผนฟื้นฟูกิจการนี้จะมีขั้นตอนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการณ์องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ภายในปลายปีนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งแผนงานการฟื้นฟูกิจการที่บริษัทฯได้จัดทำ เป็นไปแบบตามรูปแบบคำแนะนำของปลัดกระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการบริษัทเตรียมที่จะนำส่งกระทรวงคมนาคมก่อนที่จะเสนอส่งให้สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ตรวจสอบรายละเอียด และเสนอแผนการทำงานทั้งหมดต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นลำดับต่อไป
“เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อจะลดการขาดทุนจากสิ้นเดือน กรกฎาคม 2557 ซึ่งบริษัทฯมีผลการดำเนินงาน ขาดทุนสะสมมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในแผนระยะสั้น 4 เดือน ที่เริ่มใช้แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะปรับปรุงในส่วนงานต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดรายได้มากขึ้น โดยจะเน้นการให้บริการและจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีนในเส้นทางบินตอนใต้ และกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะออกโปรโมชันกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว โดยได้มีการเจรจาร่วมกันกับ Duty Free ของ คิงเพาเวอร์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อีกทั้งมองว่า สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวกลับมา โดยธุรกิจการบินจะได้รับอานิสงส์โดยตรงด้วย”
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯที่มีจุดประสงค์ให้เป้าขาดทุนสะสมลดลงจาก 10,000 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทประเมินว่า ในไตรมาสที่ 4 คาดว่า จะสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 4 จะเป็นไตรมาสที่บริษัทฯมองว่า เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวบินมาเที่ยวยังภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมากสามารถช่วยผลักดันรายได้ให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมา แม้ว่าทั้งปีจะยังคงประสบปัญหาขาดทุนอยู่ โดยประเมินจากยอดจองตั๋วเดินทางในเดือนสิงหาคมทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคำนวนได้จากยอดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (cabin factor) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 70% จากในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 60%
ขณะที่ พล.อ.อ.ศิวเกียรติ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ การบินไทยเพิ่งได้รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ ลำแรกของการบินไทย จะนำมาให้บริการในเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ โดยเริ่มทำการบินในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และเมื่อได้รับ ลำที่ 2 แล้วการบินไทยจะนำทั้ง 2 ลำมาให้บริการในเส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - เพิร์ธ และเส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - ฮาเนดะ โดยจะเริ่มทำการบินประมาณเดือนกันยายน 2557 หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม 2557 จะนำลำที่ 3 มาทำการบินเพิ่มในเส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - นาริตะ เส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - กัวลาลัมเปอร์ และเส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - ฮานอย ส่วนลำที่ 4 จะนำมาให้บริการเพิ่มในเส้นทางไป - กลับ กรุงเทพฯ - นาโกย่า ในเดือนธันวาคม 2557 สำหรับอีก 2 ลำ มีกำหนดรับมอบประมาณกลางปี 2558
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ ของการบินไทย นับเป็นเครื่องบินที่ได้รับการออกแบบ โดยคำนึงถึงผู้โดยสารเป็นหลัก ตั้งแต่การออกแบบที่นั่ง โดยแบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 24 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 240 ที่นั่ง การเลือกใช้วัสดุสำหรับเบาะที่นั่ง การจัดพื้นที่สำหรับการวางขา ห้องน้ำที่มาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไปจนถึงไฟ LED แบบไดนามิกและมุมมองจากช่องหน้าต่างที่กว้างขึ้นถึงร้อยละ 65