สถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ ชี้ดีมานด์ตลาด Facility Management กทม. 4 กลุ่มสำคัญ อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และโรงพยาบาล มีมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ระบุแนวโน้มการเติบโตในอนาคตสูง โดยเฉพาะหลังการเปิด AEC พร้อมเตรียมจัดสัมมนาใหญ่ “Facility Management Thailand 2014” ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งใน และต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูล และประสบการณ์ทำงาน 11-12 ก.ย.นี้
รศ.ดร.เสริชย์ โชติพานิช รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์และประมาณการเบื้องต้นของศูนย์ศึกษาการบริหารทรัพยากรกายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พบดีมานด์ตลาดด้าน Facilities Management (FM) ในเขตกรุงเทพฯ ใน 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และโรงพยาบาล ในปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยไม่รวมค่าสาธารณูปโภค ค่าการตลาด ซึ่งถือเป็นธุรกิจการจัดการและบริการที่มีผู้เกี่ยวข้องในการทำงานถึงกว่า 5 หมื่นคน และยังมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่ดี โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเออีซีที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน และเกิดการเช่าอาคารสำนักงาน ตลอดจนถึงการพักอาศัยการซื้อขายสินค้า และการใช้บริการทางการแพทย์ มากขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างมาก
สำหรับตลาด Facilities Management (FM) และ Property Management เป็นงานด้านการจัดการอาคาร และอสังหาริมทรัพย์ที่มีบทบาท และความสำคัญเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา การปฏิบัติงานด้าน FM ในประเทศไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการและปฏิบัติการด้าน FM มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 และในปี พ.ศ.2557 นี้ ศูนย์ศึกษาการบริหารทรัพยากรกายภาพ (CFMS) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะได้ร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างบริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมสัมมนาใหญ่ของประเทศในหัวข้อ “Facility Management Thailand 2014 : Managing facilities towards innovative dimension for business value creation and green environment” ซึ่งถือเป็นการสัมมนาใหญ่ครั้งที่ 3 และได้เชิญวิทยากรทั้งไทย และต่างประเทศ ซึ่งเป็นนักวิชาการและผู้ชำนาญด้าน Facility / Property Management ที่มีชื่อเสียง และมีผลงานที่เป็นที่สนใจมาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึก ในงานสัมมนาดังกล่าวระหว่าง 11-12 ก.ย.2557 ที่โรงแรมสยามเคมเปนสกี้
นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า “ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัสฯ ได้ทำการสำรวจตลาดอาคารในกรุงเทพฯ พบว่า มีจำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร (อาคารสูง 7 ชั้น และสูงเกิน 30 ชั้น) แบ่งเป็นอาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร (33.33%) และที่น่าเป็นห่วงคือ อาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุราว 20 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารที่มีความเสี่ยงในด้านไฟฟ้าลัดวงจร เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นต้น จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาจัดระบบวิศวกรรมอาคารให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของค่าเช่าให้แก่เจ้าของอาคารได้ในระยะยาว”
ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจบริหารทรัพยากรอาคารมีโอกาสเติบโตสูง และหากเปรียบเทียบค่าเช่าอาคารสำนักงาน พบว่า กรุงเทพฯ มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้การตัดสินใจเลือกสถานที่ลงทุน หรือการขยายธุรกิจของชาวต่างชาติมักจะเลือกประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ และอีกหนึ่งความท้าทาย และถือเป็นโอกาสทางธุรกิจคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนรวมอสังหาฯ (Property Fund) ที่เป็นเครื่องมือในการระดมเงินทุนรูปแบบหนึ่งของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ
“จากประสบการณ์ของพลัสฯ ในการบริหารอาคารสิริภิญโญ ซึ่งจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ (SIRIP) เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในช่วงต้นปีได้มีการปรับปรุงอาคาร และนำระบบต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดการจัดการทางด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าเช่าของสิริภิญโญเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 580 บาท/ตร.ม. จากเมื่อ 5 ปีก่อนอยู่ที่ 350-450 บาท/ตร.ม. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุนในรูปแบบของค่าเช่าที่สามารถปรับเพิ่มขึ้น โดยอาคารสิริภิญโญ มีอัตราค่าเช่าสูงที่สุดในย่าน ถ.ศรีอยุธยา”