xs
xsm
sm
md
lg

แสนสิริ จัดทัพครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ลดค่าใช้จ่าย มุ่งทำกำไร เผยเพิ่มทุน 8.2 พันล้านบาท หวังเสริมแกร่งด้านการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐา ทวีสิน
“แสนสิริ” จัดทัพครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี หลังเจอพิษการเมืองทำยอดขายหด ประกาศมุ่งสร้างกำไรเทียบเท่าคู่แข่งในตลาด 13-14% สิ้นปีเกิน 10% แน่นอน แจงแผนเพิ่มทุน 8,200 ล้านบาท หวังเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน ลด Gearing Ratio เหลือ 0.8-1 เท่าใน 3 ปี จากปัจจุบันสูงถึง 2.14 เท่า พร้อมลดค่าใช้จ่ายการขายและการบริหาร เหลือ 16-18% เท่าคู่แข่ง จากปี 2556 พุ่งสูง 25-26%

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ทั้งในด้านของการดำเนินงานภายในองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการขาย และการบริหาร ให้สามารถสร้างกำไรได้เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับคู่แข่งในตลาด เช่น พฤกษา และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทั้งในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin ) อยู่ที่ระดับ 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 32% ส่วนอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) รักษาให้อยู่ระดับ 13-14% จากปีนี้คาดว่าจะขึ้นไปอยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก หรือมากกว่า 10% และปี 2557 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12%

“หลังแผนเพิ่มทุนครั้งนี้บริษัทเราก็จะทำให้อัตรากำไรสุทธิให้ดีขึ้นเทียบเท่าคู่แข่ง ซึ่งบริษัทอยากให้อยู่ที่ 13-14% ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยในปี 57 ก็คาดว่าจะอยู่ที่ 10-11% เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ 8%” นายเศรษฐา กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีนโยบายเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงิน ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท เพิ่มอีกจำนวน 8,209 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 11,614 ล้านบาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนใหม่ จำนวน 19,823 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 3,614 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1.07 บาท พร้อมออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (SIRI-W2) จำนวนไม่เกิน 3,614 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ์ โดยกำหนดใช้สิทธิภายใน 7 ตุลาคมนี้



สำหรับโครงสร้างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ กลุ่มนายเศรษฐา ทวีสิน กลุ่มนายอภิชาติ จูตระกูล และกลุ่มวันจักร์ บูรณศิริ จะยังคงสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าเดิมคือ สัดส่วน 12% แต่หากผู้ถือหุ้นบางรายไม่ประสงค์จะเพิ่มทุน ทางกลุ่มก็พร้อมจะเข้าไปซื้อ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีจำนวนเท่าใด

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนจดทะเบียนจะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงคู่แข่งในตลาด เพราะนอกจากบริษัทจะมีเงินทุนที่มากเพียงพอต่อการขยายธุรกิจแล้ว ยังสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจด้วยการลดสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Gearing Ratio) ลงจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.14 เหลือ 0.8-1 เท่าใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนศักยภาพของการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในการเข้าร่วมลงทุน และเป็นพันธมิตรกับบริษัทได้เป็นอย่างดี

“การเพิ่มทุนจดทะเบียนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีฐานการเงินแข็งแกร่งขึ้นเทียบเท่าคู่แข่ง และทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงใกล้เคียงกับคู่แข่ง เพราะที่ผ่านมา เหมือนนักมวยขึ้นชกแต่ต้องแบกน้ำหนักคู่แข่ง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินสูงกว่าคนอื่น” นายเศรษฐา กล่าว

นอกจากนี้ ยังปรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทจากนี้ไปอีก 3 ปีข้างหน้า (2558-2560) ให้มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี หรือประมาณ 3.5-3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2558 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4-4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 จากปีนี้ตั้งไว้ 3.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างการบริหาร เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจมีความแข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จภายใต้แผนงาน “Engineer or Growth” ซึ่งประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรกคือ การแสวงหาโอกาส ทั้งโอกาสจากปัจจัยบวกในด้านต่างๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้นตามลำดับ อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1 อัตราดอกเบี้ยซึ่งยังอยู่ในแนวโน้มที่ค่อนข้างคงที่

ขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มในการปล่อยสินเชื่อที่ดีขึ้น นำมาสร้างประโยชน์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประการแรก การโฟกัสในโปรดักต์ และทำเลที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ด้วยการบริหาร portfolio ของโครงการทั้งหมดให้มีความสมดุลมากขึ้น เช่น การปรับสัดส่วนของโครงการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็น 80 : 20 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับแผนที่วางไว้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 85 : 15 โดยตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นยังนับว่ามีอีกหลายทำเลที่มีดีมานด์ชัดเจน แต่บริษัทยังขยายการพัฒนาโครงการไปไม่ครอบคลุมอย่างเต็มที่ เช่น กรุงเทพฯ โซนเหนือ โซนตะวันออก และโซนตะวันตก นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับโครงสร้างสัดส่วนรายได้ที่มาจากประเภทโครงการที่มีอยู่ใน portfolio ทั้งหมดใหม่ ทั้งสัดส่วนโครงการแนวราบ และแนวสูง และสัดส่วนรายได้ที่มาจากโครงการในแต่ละระดับราคา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมากที่สุด

ประการที่สอง การปรับกลไกภายในองค์กรให้สอดคล้องกับโอกาสในการสร้างประโยชน์สูงสุด โดยมีกลไกซึ่งบริษัทมองว่าต้องมีการจัดการโดยเน้นประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ อัตรากำไรเบื้องต้นที่ต้องทำให้ดีขึ้นอีก ประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายสนับสนุนการขาย และประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่าย Admin เช่น กระบวนการทำงานที่ต้องดำเนินการแบบสอดคล้องประสานกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ทั้งฝ่ายออกแบบ ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายก่อสร้างที่ต้องร่วมกันควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด ซึ่งจะทำให้เกิด Standardized Design หรือการปรับแต่งงานออกแบบโดยยึดจาก platform เดิม อันจะช่วยสร้างความชำนาญ และแม่นยำ ส่งผลให้งานก่อสร้างมีประสิทธิผลมากที่สุดทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ ความรวดเร็ว และความสวยงาม และประการที่สาม การมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการก็จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 บริษัทคงเป้าหมายยอดรับรู้รายได้ที่ 33,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 ตั้งเป้าไว้ที่ 35,000-36,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 44,000 ล้านบาทในปี 2560 ขณะนี้บริษัทมียอดขายรอโอน (Blacklog) อยู่ในระดับสูงสุดที่ 55,000 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งในปีนี้มีกำหนดรับรู้รายได้ราว 18,000-19,000 ล้านบาท ปี 2558 รับรู้รายได้ราว 20,000 ล้านบาท และปี 2559 รับรู้รายได้ราว 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอดรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2/57 สามารถทำได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 10-15% จากเป้าที่ตั้งไว้ 5,000-5,500 ล้านบาท โดยมาจากการโอนโครงการดีคอนโด แคมปัส รังสิต ที่มียอดโอนเข้ามาค่อนข้างมาก ส่วนยอดขายในปี 2557 ยังคงเป้าเดิมที่ 30,000 ล้านบาท แม้ว่าครึ่งปีแรกจะทำยอดขายได้เพียง 4,000 ล้านบาท แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก จากแนวโน้มเศรษฐกิจ และการเมืองที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ในครึ่งหลังของปี 2557 อีก 12 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 23,400 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 8 โครงการ และโครงการแนวราบ 4 โครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น