ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท (Onshore) สัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557 เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตากระแสเงินทุนของต่างชาติ และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือเฟด ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย จีดีพีประจำไตรมาส 2/57 (ประกาศครั้งแรก) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีดัชนี PMI เดือน ก.ค. ที่ประกาศโดยมาร์กิตของหลายๆ ประเทศ รวมถึงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย. อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ได้สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน ก่อนลดช่วงบวกลงท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิค รวมถึงสถานะซื้อสุทธิพันธบัตร และหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ (72.1 พันล้านบาท และ 1.68 พันล้านบาท ตามลำดับ) ท่ามกลางความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยลดช่วงบวกลงในช่วงท้ายสัปดาห์ตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ (ก่อนการประชุมเฟด) และความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายเดือนของกลุ่มผู้นำเข้า
ในวันศุกร์ (25 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.82 หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือนที่ 31.74 ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 32.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.ค.)
ขณะเดียวกัน เงินยูโร และเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโรอ่อนค่าลง โดยเงินยูโรเผชิญแรงขายท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปน่าจะยังคงเป็นเชิงผ่อนคลาย ซึ่งจะแตกต่างจากเฟด ที่ตลาดกำลังจับสัญญาณของจุดเริ่มต้นการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีข้างหน้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดในฉนวนกาซา และยูเครน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (เช่น จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง) เงินยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ โดยถูกกดดันเพิ่มเติมจากความวิตกเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นต่อรัสเซียของชาติตะวันตก
เงินเยนอ่อนค่าท่ามกลางกระแสการทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ขณะที่การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (25 ก.ค.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.3448 เทียบกับ 1.3524 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.ค.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 101.87 เทียบกับ 101.32 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า