เคทีซี เผยกลยุทธ์ด้านช่องทางขายบัตร เร่งเต็มที่ทั้งด้านความร่วมมือกับพันธมิตร “กรุงไทย-ออมสิน” หวังรุกตลาดภูมิภาคใน 14 จังหวัดหลัก พร้อมให้ตัวแทนเร่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-กลุ่มกลางและบน ยันยังคงเป้าหมายบัตรใหม่เดิมแม้ 6 เดือนหลุดเป้า
นางณัฐชนัญ เก่งลือชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ช่องทางจัดจำหน่าย บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC)เปิดเผยว่า แผนงานด้านการขยายช่องทางจัดจำหน่ายในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ รวมถึงระยะต่อไป เคทีซีจะใช้ความได้เปรียบจากการขายผ่านช่องทางพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งมีสาขาเป็นจำนวนมาก รวมถึงตัวแทนการขายที่เป็น Outsource และผ่าน KTC touch ที่เป็นสาขาของเคทีซีเอง
ทั้งนี้ การขยายลูกค้านั้นจะเน้นไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งทำงานหรือทำบัตรเครดิตใบแรก รวมถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่างมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายสูง และจะมุ่งไปในกลุ่มลูกค้าภูมิภาคในจังหวัดที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงด้วย ซึ่งนอกจากช่องทางการขายที่แข็งแกร่งแล้ว เคทีซีก็จะมีแคมเปญหรือโปรโมชันที่ตรงใจออกมารองรับอย่างต่อเนื่องด้วย จากปัจจุบันที่เคทีซีมีสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัด 55% กทม.45%
“กรุงไทยกับออมสินซึ่งมีสาขารวมกันทั่วประเทศกว่า 2 พันแห่งจะเป็นช่องทางที่ดีในการรุกสู่ภูมิภาคใน 14 จังหวัดหลัก ขณะที่ตัวแทนการขาย แม้จะเป็นหน่วยงานนอกองค์กรแต่ก็เทรนโดยเคทีซี มีเจ้าหน้าที่ประมาณหมื่นคน และจะขายส่วนของเคทีซีเป็นหลัก โดยกำหนดยอดขายขั้นต่ำประมาณ 3,500 รายต่อเดือน ตรงนี้จะช่วยรุกส่วนของคนรุ่นใหม่และลูกค้าระดับกลาง-บนได้มาก”
สำหรับเป้าหมายการออกบัตรของเคทีซีในปีนี้ ตั้งเป้ายอดออกบัตรใหม่รวม 537,000 ใบ เป็นส่วนของบัตรเครดิต 400,000 ใบ หรือคิดเป็นเติบโต 150% โดยช่วง 6 เดือนแรกออกไปแล้ว 140,000 ใบ ตั้งเป้าบัตรสินเชื่อบุคคล 137,000 ใบ เติบโต 10% โดย 6 เดือนออกไปแล้ว 62,000 ใบ จากยอดบัตรรวมปัจจุบันที่ 1.6 ล้านใบ ซึ่งเชื่อว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และกลยุทธ์ช่องทางออกบัตรดังกล่าว จะช่วยเพิ่มยอดบัตรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
นางณัฐชนัญกล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายของเราที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งช่วง 6 เดือนแรกก็ต้องยอมรับว่ายังต่ำกว่าเป้าอยู่ เนื่องจากครึ่งปีแรกเจอปัญหาการเมือง ภาคการอุปโภค-บริโภคหดตัว แต่จากนี้ไปคงจะดีขึ้น รวมไปถึงปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นอีก จึงต้องมีการรุกตลาดอย่างเต็มที่ เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวก็จะทำให้การแข่งขันสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่เคทีซียังควบคุมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ต่ำกว่าระบบได้ โดยเอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.04% และเอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 1.1% จากระบบที่ 4%